เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยมีภาวะที่เวลาเรียนหรือทำงานไปสักพัก จู่ ๆ ก็จะมีช่วงหนึ่งที่เรากลับไม่อยากทำงานและเบื่อขึ้นมาดื้อ ๆ ซะงั้น บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกับพลังงานที่มีในตัวมันกำลังจะหมดไป สภาวะแบบนี้เรียกว่า ภาวะหมดไฟนั่นเองค่ะ แล้วภาวะที่ว่านี้คืออะไร ? น่ากลัวหรือไม่ ? หากเป็นแล้วจะแก้ได้หรือเปล่า ? วันนี้จะพาทุกคนมาร่วมหาคำตอบกันค่ะ
ภาวะ หมดไฟ เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เราเรียนหรือทำงาน ซึ่งจริง ๆ แล้วมีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่กล่าวถึงภาวะหมดไฟนี้ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ สตีเฟ่น ฮอบฟอล นักจิตวิทยาที่เป็นเจ้าของงานวิจัยชื่อ Conservation of Resouce Model หรือ รูปแบบการป้องกันการสูญเสียทรัพยากร ฟังแล้วก็เหมือนทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อย่างใดอย่างนั้น แต่เปล่าเลย เจ้าทฤษฎีนี้ได้อธิบายเอาไว้ว่า การที่มนุษย์เราพยายามจะรักษาสิ่งของที่มีอยู่หรือรักษาระดับทรัพยากรของเรา ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า บ้าน หรือแม้กระทั่งลักษณะนิสัยของเราอย่างเช่น ความภูมิใจ ความมั่นใจในตนเอง ย่อมทำให้มนุษย์เกิดความเครียด และความเครียดนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของ “ภาวะหมดไฟ” ที่หลาย ๆ คนกำลังเผชิญกัน
หากจะอธิบายให้ภาพเพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น “ภาวะหมดไฟ” ก็เหมือนกับการที่เราทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ในที่นี่ก็คือพลังงานในตัวเราค่อย ๆ หมดหรือดับมอดลงไปทีละนิด อย่าลืมนะคะว่า มนุษย์เราก็ต้องการชาร์ตพลังไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย เวลาเราเล่นโทรศัพท์ แน่นอนว่าแบตเตอรี่ก็ต้องค่อย ๆ หมดลงไป เช่นเดียวกันค่ะ หากเราทำงานหรือเรียนอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีเวลาได้พักเลย ร่างกายคนเราก็จะค่อย ๆ หมดไฟไปทีละนิด จนในที่สุดไฟในตัวที่มีก็จะดับมอดลงไป อ่านมาจนถึงตอนนี้ทุกคนอาจจะคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะ เราถึงจะเติมไฟให้กับร่างกายและใจเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ วันนี้จะมาบอกวิธีกัน !!
1. ให้เวลาตัวเองกับสิ่งที่ชอบ
ลองออกมาจากสถานการณ์ที่เครียดแล้วดึงตัวเองไปอยู่กับสิ่งที่เราชอบสิ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมงานอดิเรกในวันหยุดอย่างเช่น ร้องเพลง ดูหนัง ช้อปปิ้ง ทำอาหารหรือท่องเที่ยวรอบโลก เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยให้ได้ enjoy กับตัวเองโดยปราศจากความกังวลใด ๆ เมื่อเราได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบแล้ว จะช่วยให้เรามีพลังกลับมาทำงานได้ดังเดิมนั่นเอง
2. หยุดการเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต
โลกออนไลน์นั้นมีประโยชน์ต่อเรามากมาย แต่ในทางกลับกัน การที่เราเสพติดและเอาตัวเองไปอยู่ในโลกเหล่านี้มากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจเราอยู่แล้ว การที่เราเชื่อมต่อโลกออนไลน์ตลอดเวลานั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อร่างกายเรา คือทำให้เรานอนไม่หลับแล้ว ยังส่งผลต่อจิตใจและเกิดความเครียดมากขึ้น บางคนอาจจะสงสัยว่ามันจะไปเครียดได้ยังไง ก็คือสมมติว่าเราเล่นเฟสบุ๊คตลอดเวลาและเห็นเพื่อน ๆ โพสถึงชีวิตดี ๆ การทำงานดี ๆ แน่นอนว่ามันจะเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเราอย่างอัตโนมัติ และทำให้เราต้องกดดันตัวเองจนเกิดเป็นความเครียดสะสมได้นั่นเอง ทางที่ดีควรจะถอดปลั๊กทุกอย่างสักพัก แล้วกลับมาอยู่ในโลกความเป็นจริงเสียหน่อย รับรองว่าชีวิตจะดีขึ้นแน่นอนค่ะ
3. เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
หากจมกับสิ่งเดิม ๆ ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าทางจิตใจได้ หากเราเปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน บางทีก็เป็นการช่วยให้เราผ่อนคลายได้เหมือนกันนะคะ สาเหตุก็มาจาก การที่เราเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ จะทำให้เรากระตือรือล้นและสงสัยในสิ่งนั้นมากขึ้น แต่จะต้องไม่กดดันตัวเองหรือมีความคาดหวังกับสิ่งนั้นมากเกินไปจนทำลายเป้าประสงค์แรกของการเรียนรู้สิ่งนั้น ๆ ไม่แน่นะคะ การที่เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เราสามารถค้นพบตัวเองมากขึ้นก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
หมดไฟ ทำไงดี? วิธีการรีเฟรชตัวเองให้กลับมามีไฟอีกครั้ง