4 เทคนิคอัพสกิลภาษาที่ 3 แบบก้าวกระโดด ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้

4 เทคนิคอัพสกิลภาษาที่ 3 แบบก้าวกระโดด ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้

          สวัสดีค่ะ เชื่อว่าน้อง ๆ ที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้หลาย ๆ คนคงกำลังเรียนภาษาที่ 3 อยู่ใช่ไหมคะ และก็เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้สึกว่าพอเรียนไปสักพักแล้วก็รู้สึกว่าทำไมสกิลเรานิ่งจัง มันไม่ค่อยพัฒนาเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหานี้เป็นปัญหายอดฮิตของผู้เรียนภาษาที่ 3 เลยก็ว่าได้ ดังนั้นวันนี้ผู้เขียน ซึ่งอยู่ในฐานะคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ 3 อยู่ ก็ขอแชร์เทคนิคง่าย ๆ ที่ เราใช้แล้วรู้สึกว่าเวิร์กมาให้น้องทุก ๆ คนลองปรับใช้ดู รับรองได้ว่าทำแล้วสกิลภาษาพุ่งขึ้นรัว ๆ แน่นอน

เทคนิคที่ 1 : เปลี่ยนสื่อที่เสพทุกอย่างเป็นภาษานั้น ๆ

          วิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้เขียนทำแล้วเวิร์กที่สุด โดยวิธีทำก็ตามชื่อเลยก็คือให้น้อง ๆ เปลี่ยนสื่อที่ตัวเองเสพอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ละคร หนัง เกม นิยาย Youtube หรือแม้แต่Twitter เป็นสื่อภาษาที่เราเรียนอยู่ น้อง ๆ หลายคนอาจรู้สึกเอียน รู้สึกว่าเรียนจากในชั่วโมงมาตั้งเยอะแล้ว นอกชั่วโมงเรียนยังต้องมาเจอภาษานี้อีกเหรอ แต่เราขอบอกเลยว่าถ้าทำแล้ว สกิลภาษาของน้อง ๆ จะก้าวกระโดดไม่ได้เยอะมาก ๆ ค่ะ ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงเรื่อง Input Hypothesis เอาไว้ในบทความ เคล็ดลับการหาหนังสือภาษาอังกฤษที่เหมาะกับตัวเอง ภายใน 5 นาที (ขออนุญาตขายของ 5555) ว่าสิ่งที่สำคัญในการเรียนภาษาที่ 2 (หรือ 3 4 5 ฯลฯ) คือการรับข้อมูล หรือInput เข้ามา โดย Inputที่จะทำให้การเรียนรู้ภาษามีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะต้องมีความยากพอดี ระดับความยากไม่มากกว่าความรู้ของผู้เรียนมากจนเกินไป (i+1)แล้ว Inputนั้นยังต้องมีจำนวนมากด้วย

          ดังนั้นการที่เราเปลี่ยนสื่อที่ตัวเองเสพอยู่ (ซึ่งการเสพหรือรับเข้ามาก็คือ Input) เป็นภาษาที่เราเรียนอยู่ ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่ได้ Input กลับไปเป็นจำนวนมาก

          นอกจากนี้การเรียนรู้ภาษาผ่านทางสื่ออื่น ๆ นอกหนังสือเรียนก็จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการใช้ภาษานั้น ๆ แบบเป็นธรรมชาติแบบฉบับnative เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเรียนจากหนังสือเรียนก็อาจเป็นทางการหรือเจ้าของภาษาไม่ค่อยได้ใช้

@michaela_sato

@seiya0217ts への返信 ありがとうございますの言い方How to say ‘thank you’in Japanese

♬ オリジナル楽曲 – みけ – みけ

          จากคลิปข้างบนก็จะเห็นว่าถึงเราจะเรียนคำว่า ありがとうございます (Arigatou gozaimasu) หรือคำขอบคุณในภาษาญี่ปุ่นจากในตำรา แต่ในชีวิตจริงก็อาจเป็นทางการมากเกินไป หรืออาจมีวิธีการพูดคำนี้ในหลาย ๆ แบบ ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ได้เรียนรู้จากสื่อ ก็จะทำให้สามารถใช้ภาษานั้น ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงเจ้าของภาษาไปอีกเสต็ป

          อีกทั้งถ้าน้อง ๆ เสพสื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น น้อง ๆ ก็จะได้รู้ศัพท์สแลง แบบที่ไม่มีสอนในตำราอีกด้วย อย่างตัวผู้เขียนที่อยากรู้ภาษาชาวเน็ตของญี่ปุ่นก็ลงทุนสร้างแอคทวิตขึ้นมาใหม่เพื่อฟอลแอคของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ5555

เทคนิคที่ 2 : เมื่อเสพแล้วลองพูดตาม

          เป็นวิธีที่หลาย ๆ คนอาจรู้สึกอายหรือรู้สึกแปลก ๆ อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนขอรับประกันว่าวิธีนี้เวิร์กจริงไม่ติงนัง โดยเทคนิคนี้จริง ๆ แล้วมีชื่อว่า Shadowing Technique คือการที่เมื่อเปิดข่าว วิดิโอ การ์ตูน ละคร หรือYoutube ภาษาที่เรากำลังเรียนอยู่ แล้วฝึกพูดตาม โดยตอนพูดแรก ๆ อาจพูดไม่ทัน ไม่เต็มประโยคก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ได้พูดเอาไว้ก่อน

          สมัยที่ผู้เขียนเรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นต้นอยู่ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นก็บอกว่าสำเนียงของเรายังเพี้ยน ๆ อยู่ เราเลยลองไปฝึกพูดตามข่าว NHK Easy News (น้องคนไหนสนใจลองเข้าลิงก์นี้ได้เลยจ้า เป็นข่าวที่คำศัพท์ไม่โหดมาก+ผู้ประกาศข่าวพูดไม่เร็ว https://www3.nhk.or.jp/news/easy)

          วิธีนี้นอกจากจะทำให้เราได้ฝึกออกเสียงพูดให้คล่องปากแล้ว ยังทำให้เราได้ฝึกสำเนียงให้เหมือนเนทีฟได้อีกด้วย !

เทคนิคที่ 3 : ฝึกท่องศัพท์ด้วยเทคนิคสมุด Flash card

          จริง ๆ แล้วเราเป็นคนที่อ่อนเรื่องคำศัพท์มาก ๆ รู้สึกยิ่งเรียนก็ยิ่งจำศัพท์ไม่ได้ จนช่วงก่อนสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นเราได้ลองจดศัพท์ลงไปในสมุด Flash Card โดยจดคำศัพท์ไว้หน้าหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นคำแปล ซึ่งสารภาพตามตรงว่าตอนแรกที่เราทำก็ไม่ค่อยเวิร์กเพราะจดมาแล้วก็ขี้เกียจ ไม่ค่อยหยิบขึ้นมาท่อง แต่พอช่วงใกล้สอบไฟลุก (จริง ๆ คือเสียดายเงินค่าสมัคร) เลยหยิบมาอ่านทุกครั้งที่ว่าง เช่น ตอนรออาหาร ขึ้นรถไฟฟ้า หรือแม้แต่ตอนเป่าผม ก็ทำให้ซึมซับคำเข้ามาโดยอัตโนมัติ ไม่ทรมาน เลยทำให้รู้ว่าหัวใจสำคัญหลักที่ทำให้การท่องศัพท์ได้ผลคือการเห็นบ่อย ๆ นั่นเอง (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เอาไปโยงกับ Input Hypothesis ได้เหมือนกัน เพราะคุณสมบัติในการเป็น Input ที่ดีก็คือการพบเห็นได้บ่อย ๆ)

          ส่วนน้องคนไหนที่รู้สึกว่าสมุดFlash Card หายากหรือขี้เกียจพก ผู้เขียนก็ขอแนะนำแอปฯ Quizlet ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ทำหน้าที่เหมือน Flash Card เลยย ดังนั้นแค่มือถือเครื่องเดียวก็ท่องศัพท์ได้แล้ว !

Quizlet: Learn with Flashcards

Apple Store

Google Play

เทคนิคที่ 4 : คุยกับตัวเอง

          สารภาพตามตรงว่าตอนเขียนก็แอบอายเหมือนกัน แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่เวิร์กมากสำหรับคนขี้มโนแบบเรา 5555 คือเราชอบสร้างสถานการณ์สมมุติต่าง ๆ ขึ้นมาในหัว แล้วก็ลองคิดว่าถ้าคู่สนทนาเราพูดกับเราอย่างนี้ แล้วเราจะตอบเป็นภาษาญี่ปุ่นยังไง บางครั้งเวลาอยู่ในห้องคนเดียวก็พึมพำออกมา 5555

          หรือถ้าใครไม่ใช้สายมโน ไม่รู้ว่าจะมีสถานการณ์อะไร ก็ลองสังเกตง่าย ๆ ก็ได้ว่าปกติเราคุยกับเพื่อนหรือคนรอบตัวเราเป็นหัวข้ออะไรบ้าง แล้วลองคิดดูว่าถ้าประโยคนี้พูดจากภาษาไทยเป็นภาษานี้จะพูดยังไงดี เพราะเราคิดว่าประโยคหรือหัวข้อที่เราจะพูดคุยในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่น ๆ ก็ไม่ได้ต่างกันมาก


          เทคนิคที่เราใช้แล้วได้ผลก็จะมีประมาณนี้ค่ะ สำหรับเราสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพคือการเรียนอย่างสนุกสนาน ไม่ฝืนจนเกินไป ก็หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะเอาเทคนิคไปปรับใช้กันนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *