เรียนต่อญี่ปุ่น: 6 เคล็ดลับสำหรับการเตรียมตัว โดย Tamaki Hoshi
น้องๆ คือคนหนึ่งที่อยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นใช่ไหม! มาดู 6 เคล็ดลับจากนักเรียนต่างชาติที่ไปเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยประเทศญี่ปุ่นกัน!
เคล็ดลับจากนักศึกษาต่างชาติสำหรับการเตรียมตัวไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทั้งความแปลกใหม่และความสะดวกสบายผสมผสานกันอย่างลงตัว ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นจุดหมายยอดฮิตสำหรับนักศึกษาที่ต้องการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ บางทีอาจเป็นเพราะขนมไทยากิ โอโคโนมิยากิ หรือเสื้อผ้าและเครื่องเขียนที่สุดแสนจะน่ารักคาวาอี้ ความสุภาพและบรรยากาศที่เป็นมิตรในสังคมญี่ปุ่นที่ดึงดูดนักเรียนต่างชาติเกือบ 300,000 คน ให้มาเรียนต่อที่นี่ ในฐานะที่เป็นนักเรียนต่างชาติซึ่งเรียนอยู่ณ มหาวิทยาลัยในโตเกียว ผู้เขียนขอรับรองได้เลยว่าทุกสิ่งที่คาดหวังไว้ด้านบนเป็นเรื่องจริงของญี่ปุ่นที่น่าประทับใจมาก
ทั้งอาหารและโอกาสต่างๆ ในญี่ปุ่นต่างไม่ทำให้ผิดหวัง แต่ผู้เขียนก็พบเคล็ดลับบางอย่างที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จากการลองผิดลองถูก เป็นเคล็ดลับแบบที่ถ้ารู้มาก่อนก็คงจะดี
เพราะฉะนั้นเพื่อให้น้องๆ ผู้อ่านที่วางแผนจะมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาแบบผู้เขียน เราก็จะขอแนะนำ 6 เคล็ดลับสำหรับการเตรียมตัวมาเรียนต่อญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิภาพกันเลย!
1.หาหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ
ตอนที่ผู้เขียนค้นหามหาวิทยาลัยที่จะมาเรียนต่อ สิ่งแรกที่ทำคือการหาหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลักของแต่ละมหาวิทยาลัย เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้น แต่ปัญหาก็คือการที่ผู้เขียนไม่ยอมหาข้อมูลให้ลึกลงไปกว่านี้
ผู้เขียนข้อแนะนำว่าไม่ควรเช็คแค่หลักสูตรทั่วไปหลักๆ ของคณะที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ควรจะเช็คประมวลรายวิชาของแต่ละวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะหลังจากที่ผู้เขียนเรียนมา 3 เทอมในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนก็รู้ว่าเกือบครึ่งของวิชาเรียนที่ลงเรียนเป็นวิชาเรียนของภาควิชาอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือหลักสูตรของภาควิชาที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
ผู้เขียนยังโชคดีเพราะมหาวิทยาลัยมีวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษหลายวิชา แล้วยังเป็นวิชาของภาควิชาที่ผู้เขียนสังกัดด้วย แต่ผู้เขียนก็เห็นว่ามีบางมหาวิทยาลัยมักจะเปิดวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่วิชาเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ จะมีอิสระในการลงเรียนวิชาต่างๆ บ้างตอนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ขอแนะนำมากๆ ให้น้องๆ หาข้อมูลจำนวนวิชาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยน่าจะเปิดไว้
2.ทำตัวให้คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่น
ในฐานะนักศึกษาที่สมัครเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษและอาศัยอยู่ในโตเกียว ผู้เขียนรับรองได้เลยว่าสกิลภาษาญี่ปุ่นไม่จำเป็นตอนเรียน เฮ้อ! รอดไป!
แต่ก็มีสถานการณ์นอกห้องเรียนที่ผู้เขียนถูกทดสอบสกิลภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน เช่นสถานการณ์ต่อไปนี้
– ถามทางอย่างเร็วๆ บนถนน
-อ่านป้ายต่างๆ ในสถานนีรถไฟ
-สั่งอาหารในร้านอาหาร
-คุยกับเจ้าของห้องเช่า
-คุยโทรศัพท์กับบริษัทที่ให้บริการสาธารนูปโภคอย่างน้ำประปา แก๊ส และไฟฟ้า
-หาเพื่อนคนญี่ปุ่น
การเข้าใจภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ช่วยแค่ในสถานการณ์เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมท้องถิ่นกับคนในชุมชน ผู้เขียนตัดสินใจมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วการได้ภาษาก็ทำให้การค้นหา เข้าถึง และมีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนนั้นง่ายมากขึ้น
เคล็ดลับง่ายๆ ข้อหนึ่งก็คงจะเป็นการจดจำเอกลักษณ์ของเมืองใหญ่เมืองเล็กที่น้องๆ ผู้อ่านจะไปบ่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้น้องๆ ได้เมื่อน้องๆ พยายามหาจุดที่ตัวเองอยู่ในแผนที่หรือป้ายสัญญาณรถไฟ
ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยใช่ไหม? แต่ไม่เป็นไร! ลองไปอ่านบทความในนี้ดูนะ บทความเกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น – SchooLynk|MEDIA
3.เตรียมเงินสกุลญี่ปุ่นไว้บ้าง
สกุลเงินเยน (JPY) เป็นสกุลเงินที่ใช้กันในประเทศญี่ปุ่น 100 เยน เท่ากับประมาณ 30 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนขึ้นลงแล้วแต่ช่วง) ร้านค้าใหญ่ๆ รับบัตรเครดิตก็จริง แต่ว่าร้านค้าทั่วไปหลายๆ ร้านกับขนส่งสาธารณะรับแต่เงินสดเท่านั้น เช่น รถบัสรับแค่เหรียญหรือ IC card ที่เติมเงินไว้ก่อนเท่านั้น ผู้เขียนเรียนรู้วิธีนี้ด้วยวิธีที่ยากลำบากทีเดียวเชียว…
การเอาเงินสดไปให้พอจะทำให้น้องๆ มั่นใจได้ว่าน้องๆ จะไม่ต้องเจอกับเรื่องน่าปวดหัวหรือพลาดโอกาสอะไร ซื้อกระเป๋าใส่เศษเหรียญไว้ก็เป็นไอเดียที่ดีเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นมีทั้งเหรียญ 1 เยน 10 เยน 50 เยน 100 เยน ไปจนถึง 500 เยน (150 บาท)
4.ทำลิสต์อาหารที่อยากกิน
เอาตรงๆ เลย ด้านที่ดีที่สุดของการได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นคืออาหารอร่อยๆ ทั้งหลาย! ขอแนะนำให้ทำลิสต์ของที่อยากลองที่ญี่ปุ่นไว้เลยจริงๆ
เหตุผลแรกเลย คือ การทำลิสต์จะช่วยให้น้องๆ มองหาอาหารญี่ปุ่นที่น้องๆ อาจจะมองข้ามไปได้อยู่เสมอ อย่าลืมแวะร้านขายไทยากิข้างทาง(แพนเค้กรูปน้องปลาสอดไส้ถั่วแดงกวน) แล้วก็อย่าให้รถขายยากิโทริกับเคบับไก่วิ่งผ่านไปเฉยๆ นะ!
เหตุผลที่สองคือ ถ้าน้องๆ รู้จักอาหารญี่ปุ่นแล้ว น้องๆ ก็จะหลีกเลี่ยงวัตถุดิบบางอย่างที่ “แปลกใหม่” ไปจากที่เคยรู้จักได้ ตัวอย่างเช่น นัตโตะมากิ ที่หน้าตาดูแล้วน่าจะเป็นซูชิโรลธรรมดาสอดไส้ถั่วหมักไม่มีพิษมีภัยอะไร… แล้วผู้เขียนก็ได้รู้เรื่องนี้ด้วยทางที่ยากลำบากเหมือนกัน
สุดท้ายขอให้น้องๆ เช็คเมนูในร้านสะดวกซื้อดู ในฐานะที่เป็นนักเรียน รับประกันได้เลยว่าน้องๆ จะต้องกลายเป็นลูกค้าประจำของร้านแฟมิลี่มาร์ทกับเซเว่นอิเลเว่นที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดแน่ๆ แต่เอาจริงๆ ร้านสะดวก
ซื้อมีข้าวกล่องเบนโตะกับขนมอร่อยๆ เยอะเลย และที่สำคัญที่สุดร้านสะดวกซื้อมีอยู่ทุกซอกทุกมุมในประเทศญี่ปุ่นเลยแหละ!
5.หาข้อมูลสถานที่และพื้นที่รอบๆ
ก็ต้องขอพูดตรงๆ เลยแล้วกันว่าห้องเรียนก็ดูคล้ายๆ กันไปหมดทั้งโลก เพราะฉะนั้นผู้เขียนเลยขอแนะนำให้หาข้อมูลของพื้นที่รอบได้ มหาวิทยาลัยของน้องๆ และรอบๆ ที่น้องๆ อยู่ด้วย เพื่อหาโอกาสเที่ยวที่รอบๆ ตัว
การรู้จักพื้นที่รอบ มหาวิทยาลัยของน้องๆ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะระหว่างช่วงพักรอเรียนวิชาถัดไป ถ้าไม่มีการบ้านต้องทำ ผู้เขียนก็มักจะใช้เวลาว่างๆ เดินเตร็ดเตร่ในระแวกใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย แล้วก็มักจะจินตนาการจุดหมายปลายทางในหัว แล้วก็ชมวิวทิวทัศน์ระหว่างที่เดินไปจุดหมายปลายทาง ผู้เขียนรู้เรื่องเมืองหลายอย่างมากๆ จากกการเดินเตร่ไปเรื่อยๆ ระหว่างพักแบบนี้
นอกจากนี้ การหาข้อมูลพื้นที่จะสะดวกมากๆ เวลาที่เรานัดใครในที่ที่เรายังไม่เคยไป การมีแผนที่ของสถานที่รอบๆ ที่พักหรือมหาวิทยาลัยในหัวเป็นวิธีที่ดีมากในการเตรียมตัวไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น
6.ทำความเข้าใจระบบขนส่งสาธารณะ
ชั่วโมงเร่งด่วนในโตเกียวไม่ได้เป็นแค่เพียงตำนานเท่านั้น เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟดันคนเข้าขบวนรถไฟแล้วก็ดันประตูให้ปิด การอยู่ในดงคนจำนวนมากมายบนรถไฟและในสถานีอาจจะทำให้เรารู้สึกเครียด แต่จริงๆ แล้วระบบขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่นไม่ได้ซับซ้อนเลยอะไรเลยถ้าเราจับจุดได้แล้ว
จากที่ใช้รถไฟเป็นส่วนใหญ่ ก็ขอแนะนำให้น้องๆ หาข้อมูลต่อไปนี้ไว้
1.จำสายรถไฟให้ได้ (จำโลโก้ด้วย)
2.ชื่อสถานีที่จะลง (เช็คตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นด้วย)
3.ทิศทางที่น้องๆ ต้องไปด้วยรถไฟสายนั้น (ส่วนมากจะบอกเป็น “มุ่งหน้าไป___” ในช่องว่างคือชื่อเมือง )
แค่มี 3 อย่างนี้ในหัว น้องๆ ก็ใช้รถไฟญี่ปุ่นได้สบายๆ เลย
เคล็ดลับอีกอย่างสำหรับการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นก็คือการทำ IC card หรือบัตรเติมเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายค่าเดินทาง ยังทำให้เราผ่านประตูอัตโนมัติของสถานีรถไฟได้ด้วยการแตะเร็วๆเพียงครั้งเดียว สะดวกสุดๆ โดยเฉพาะตอนเช้าเวลารีบๆ เพราะหลับคานาฬิกาปลุก แถมบัตรนี้ยังใช้ซื้อของผ่านตู้ขายของอัตโนมัติได้ ร้านค้า หรือร้านอาหารได้ด้วย พื้นที่แถบโตเกียวจะใช้ IC card ที่ชื่อ Suica กับ Pasmo แต่ภูมิภาคอื่นๆ ก็จะมีบัตรของพื้นที่ตนเองแยกออกไป
ตอนนี้น้องๆ ก็พร้อมที่จะไปเรียนต่อญี่ปุ่นแล้ว!
ด้วยเทคนิค 6 ข้อด้านบน น้องๆ จะพร้อมยิ่งกว่าพร้อมไปเรียนต่อญี่ปุ่นซะอีก! การเตรียมตัวเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่สุด แล้วก็ยังเป็นส่วนสำคัญของทุกๆ ทริป และจากที่น้องๆ อ่านบทความนี้มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าความพยายามของน้องๆ จะต้องได้ผลสุดปังแน่ๆ
ขอทวน 6 ข้อที่พูดไปในบทความอีกรอบนะ
1.หาหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ
2.ทำตัวให้คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่น
3.เตรียมเงินสกุลญี่ปุ่นไว้บ้าง
4.ทำลิสต์อาหารที่อยากกิน
5.หาข้อมูลสถานที่และพื้นที่รอบๆ
6.ทำความเข้าใจระบบขนส่งสาธารณะ
ขอให้น้องๆ ผู้อ่านทุกคนที่วางแผนจะไปเรียนต่อญี่ปุ่นโชคดีกันทุกคนเลย!
ประวัติผู้เขียน
สวัสดี! เราชื่อ Tamaki เป็นนักศึกษาหลักสูตร TAISI (English-based Degree Program) ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โตที่สหรัฐอเมริกา ใฝ่ฝันที่จะใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแล้วก็เรียนรู้วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของประเทศที่แม่เคยอยู่มาตลอด สนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน มีงานอดิเรกคือ บัลเล่ต์ ทำอาหาร อ่านหนังสือ แล้วก็กินอาหารญี่ปุ่นด้วย 😉
Credit by SchooLynk: https://schoolynk.com/media/articles/3fc902a7-d1b9-4cfa-984c-0316ca05f78f