เคยไหม อ่านเท่าไหร่ก็จำไม่ได้ซักที

  ช่วงนี้คงเข้าสู่ช่วงสอบแล้วสำหรับบางคน ตะบี้ตะบันอ่านหนังสือก็แล้ว แต่ก็จำไม่ได้ซักที ท่องศัพท์แล้ว ผ่านไปก็ลืมตลอด ทุกคนเคยมีปัญหาเหล่านี้กันบ้างไหมคะ เราคิดว่ามีคนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหานี้ เราเองก็เคยประสบกับปัญหานี้เช่นกันค่ะ วันนี้จึงอยากมาแบ่งปันวิธีจำให้ได้นานในรูปแบบความจำระยะยาวให้ทุกคนได้ฟังกันค่ะ

Cartoon png from pngtree.com/

  ก่อนอื่นขอเล่าเกี่ยวกับความจำของคนเราก่อนนะคะ อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ ความทรงจำของเรานั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.ความจำทันที (immediately memory) หมายถึง ความจำที่เกิดทันทีที่มีการรับรู้จากสิ่งเร้า โดยยังไม่มีการทบทวนหรือใส่ใจ ทำให้ลืมได้ง่ายภายในไม่กี่วินาที เช่น ชื่อถนน เบอร์โทรศัพท์

2.ความจำระยะสั้น(Short-term memory) หมายถึง ความจำซึ่งเราตั้งใจจดจำไว้ชั่วคราวไม่กี่นาที และถ้าไม่มีการทบทวนความทรงจำก็จะลืมไปได้เช่นกัน เช่น สิ่งใหม่ๆที่เรียนรู้

3.  ความจำระยะยาว (long-term memory) หมายถึงความจำที่เราทบทวนอยู่เสมอ ทำให้เปลี่ยนจากความจำระยะสั้นมาเป็นความจำระยะยาว ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปี หรือตลอดชีวิตก็ได้ เช่น วิธีขี่จักรยาน

brain png from pngtree.com/

  สมองเราก็เหมือนกับ hard drive ค่ะ แน่นอนว่ามีพื้นที่จำกัดในการกักเก็บข้อมูล ด้วยเหตุนี้แหละค่ะที่ทำให้เราลืมสิ่งต่างๆ เมื่อข้อมูลของเราเต็ม สมองจะพยายามขจัดข้อมูลที่เราคิดว่าไม่จำเป็นออกไป ถ้าเพื่อนๆยังนึกภาพกันไม่ออก เราจะลองยกตัวอย่างให้ได้เห็นภาพกันมากขึ้นนะคะ เพื่อนๆคงจะรู้จัก เชอร์ล็อค โฮล์มส์ กันใช่ไหมคะ เขาเป็นนักสืบอัจฉริยะนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่สามารถจดจำเรื่องระบบสุริยะได้ ไม่ใช่ว่าเพราะเขาไม่เรื่องนี้แต่อย่างใด แต่นั่นเป็นเพราะเขาฉลาดมากๆ มีข้อมูลในหัวมาก สมองของเขาจึงกำจัดข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุริยะที่เขาคิดว่าเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต่อเขานั่นเอง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ข้อมูลล้น ข้อมูลใหม่ๆจึงถูกจัดเป็นความจำระยะสั้น หรือ Short-term memory นั่นเองค่ะ

  จากผลวิจัยของนักจิตวิทยาชาวเยอรมณี Hermann Ebbinghaus ชี้ให้เห็นว่า ในเวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงหลังจากเรียนสิ่งใหม่ๆ คนเราลืมสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปถึงมากกว่าครึ่งเสียอีก หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะจำข้อมูลได้เพียงประมาณ 30% เท่านั้น หมายความว่าหากเราต้องการที่จะเก็บข้อมูลไว้ในหัวเราให้ได้นาน เราจะต้องทำให้ข้อมูลนั้นกลายเป็นความทรงจำระยะยาวค่ะ แต่จะทำได้อย่างไร? บทความนี้ได้รวบรวมมาให้เพื่อนๆแล้วค่ะ

中国語を勉強する人のイラスト(女性)

การทำซ้ำ

  หากเพื่อนๆกำลังอ่านบทความนี้ก่อนสอบ มาถูกทางแล้วค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้เพื่อนๆจดจำได้เร็วขึ้นค่ะ ก่อนอื่นจดจำข้อมูลที่ต้องการ จากนั้นทำการทบทวน การทบทวนไม่ใช่การอ่านซ้ำอีกรอบ แต่ให้เพื่อนทบทวนกับตัวเองว่าเราได้เรียนรู้อะไรไป หากทำแล้วพบว่าลืมอะไรตกหล่นไปให้เน้นย้ำตรงจุดนั้นเพิ่มหลังจากนั้นค่ะ  ซึ่งจะทำดังนี้ค่ะ

การทบทวนครั้งแรก : ทบทวนทันทีหลังจากเรียนรู้

การทบทวนครั้งที่ 2 : หลังจากผ่านไป 15-20 นาที

การทบทวนครั้งที่ 3 :หลังจากผ่านไป 6-8 ชั่วโมง

การทบทวนครั้งที่ 4 : หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง

ในระหว่างที่ไม่ได้ทบทวนขอให้เพื่อนๆพักผ่อนสมอง โดยไม่จำเป็นต้องจดจ่อกับเนื้อหาที่กำลังจำตลอดเวลานะคะ

  ต่อมาจะเป็นวิธีที่ทำให้จำได้นานขึ้นค่ะ ซึ่งยังเป็นการทำซ้ำเหมือนเดิมแต่จะแตกต่างกับวิธีแรกเล็กน้อย

การทบทวนครั้งแรก : ทบทวนทันทีหลังจากเรียนรู้

การทบทวนครั้งที่ 2 : หลังจากผ่านไป 20-30 นาที

การทบทวนครั้งที่ 3 :หลังจากผ่านไป 1 วัน

การทบทวนครั้งที่ 4 : หลังจากผ่านไป 2-3 อาทิตย์

การทบทวนครั้งที่ 5 : หลังจากผ่านไป 2-3 เดือน

การทำซ้ำแบบนี้จะทำให้เพื่อนๆจำได้นานเนื่องจากมีการนำข้อมูลกลับมาซ้ำๆ สมองจึงคิดว่าเป็นข้อมูลที่จำเป็นและไม่กำจัดออก

การทำความเข้าใจ

    หากเราไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังจำอยู่ เป็นไปได้ยากที่เราจะจำได้นานค่ะ เนื่องจากการทำเช่นนั้นก็เป็นเพียงแค่การท่องแบบนกแก้วนกขุนทองจำเพียงคำเท่านั้น ไม่ได้เข้าใจความหมาย จึงขอให้เพื่อนๆทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังจดจำ และลองอธิบายออกมาในคำพูดตัวเอง แนะนำว่าพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดค่ะ

จำในสิ่งที่สำคัญ

    ถ้าเพื่อนๆรู้สึกว่า เนื้อหาเยอะจัง จำได้ไม่หมดแน่ๆ ขอให้เพื่อนระดับความสำคัญถึงสิ่งที่ควรจำนะคะ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปค่ะ หรือ เพื่อนๆอาจหาตัวช่วย เช่น โน้ตสรุปคุณภาพ เนื้อหาเน้นๆที่รวมไว้ในแอพ  Clearnote มาช่วยได้นะคะ

ต้น-ท้ายสำคัญไฉน

    ต่อเนื่องมาจากการจดจำเนื้อหาที่ยาว คนเรามักจะจำช่วงแรกสุด และช่วงท้ายสุดได้ดีที่สุดค่ะ เราสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้โดยกำหนดคีย์เวิร์ดเนื้อหาไว้ช่วงต้นและช่วงท้ายค่ะ

การพัก

     ใช่แล้วค่ะ การพักก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความจำเช่นกัน การพักทุก 15 -20 นาทีระหว่างเรียน เป็นเรื่องที่ดีค่ะ เนื่องจากคนเราจะมีสมาธิจดจ่อได้ดีที่สุดเพียง 15-20 นาที จากนั้นสมาธิจะลดลง ฟังดูสั้นใช่ไหมคะ แต่การฝืนเรียนต่อไปก็จะทำให้เหนื่อยล้าและไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิมค่ะ

部屋を片付けられない女性のイラスト

จัดหมวดหมู่ข้อมูล

    เพื่อนๆลองจินตนาการว่ามีบ้านหลังหนึ่งในสมองเรานะคะ หากในบ้านทั้งหลังมีเพียงห้องเดียว ของที่เก็บไว้ในห้องก็จะดูไม่เข้ากัน เตียงนอนวางคู่กับชั้นรองเท้าก็คงจะไม่สมเหตุสมผล สิ่งของเหล่านั้นเปรียบเหมือนข้อมูลค่ะ เราควรควรจัดหมวดหมู่เหมือนกับห้องต่างๆ เช่น ห้องครัวควรจะมี เตา กระทะ หม้อ การจัดหมวดหมู่ทำให้เราเชื่อมข้อมูลกับสิ่งเดิมได้ และจำง่ายขึ้นค่ะ

<a href="<a href='https://www.freepik.com/vectors/light'>Light vector created by upklyak – www.freepik.com

Tipsน่าสนใจ อื่นๆ

  • การออกกำลังกาย ช่วยให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี
  • เติมความหวานให้สมอง กลูโคสและอินซูลินในขนม หรือคาเฟอีนในกาแฟ ช่วยให้สมองจำในระยะยาวได้ดีขึ้น ของทานเล่นที่แนะนำ ได้แก่ บลูเบอร์รี่, หมากฝรั่ง, กาแฟ
  • พูดคุยกับเพื่อนๆ การพูดคุยกับเพื่อนๆและมีความสัมพันธ์ที่ดีนอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยให้ความจำดีขึ้น พบว่าผู้สูงวัยช่วง 80+ ที่พึงพอใจกับความสัมพันธ์(Relationship) มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำเทียบเท่าคนช่วงวัย 50 – 60 เลยทีเดียว
  • เล่นเกมฝึกสมอง นอกจากออกกำลังกายแล้ว การบริหารสมองก็ช่วยพัฒนาความจำเช่นกัน
  • ความเครียด หลายคนที่อ่านถึงตรงนี้อาจจะยังงงๆ ว่าเครียดจะดีอย่างไร จริงแล้วความเครียดที่ไม่มากเกินไป ช่วยให้เราจำรายละเอียดได้มากขึ้นค่ะ เช่น การท่องบทพูดก่อนพูดต่อหน้าคน หรือที่หลายคนน่าจะเคยเจอ คือการรีบอ่านก่อนเข้าห้องสอบค่ะ

  วิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่น่าสนใจในการสร้างความจำระยะยาวที่เราได้รวบรวมมาให้เพื่อนๆ ทุกคนอาจลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น หวังว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้วเพื่อนๆจะสามารถแก้ไขปัญหาฮอตฮิตอย่าง’อ่านเท่าไหร่ก็จำไม่ได้ซักที’ได้นะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเสมอค่ะ

ゴーストライターのイラスト

พูดคุยบอกเล่าประสบการณ์จากผู้เขียน

    เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับวิธีที่ได้แนะนำไป หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อนๆที่อ่านอยู่นะคะ ใครทำแล้วได้ผลอย่างไร หรือมีวิธีจำอื่นๆมาแชร์กัน คอมเมนท์พูดคุยกันได้นะคะ

    สำหรับเราแล้ว วิธีที่ได้ผลดีที่สุด คือการทำความเข้าใจค่ะ เมื่อเข้าใจแล้ว ลองเล่าให้ใครซักคนฟัง การติวให้เพื่อนนอกจากเพื่อนจะได้รับความรู้ไปด้วยแล้ว เรายังได้ทบทวนความจำและความเข้าใจของตัวเองไปด้วยค่ะ หากเป็นคำศัพท์เรามักจะสร้างเรื่องราวในหัวเกี่ยวกับคำศัพท์นั้น ทำให้เข้าใจการใช้แล้วเห็นภาพมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ❤️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *