เคล็ดลับการหาหนังสือภาษาอังกฤษที่เหมาะกับตัวเองภายใน 5 นาที

        เคล็ดลับการหาหนังสือภาษาอังกฤษที่เหมาะกับตัวเอง ภายใน 5 นาที

         สวัสดีค่า ช่วงนี้คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ผู้เขียนยังอยู่บ้าน Work From Home อยู่ นอกเวลางานก็ไถโซเชียลดูเพลิน ๆ แต่บางครั้งก็รู้สึกเบื่อโลกโซเชียล เลยถือโอกาสนี้มาฝึกสกิลภาษาอังกฤษด้วยการหานิยายภาษาอังกฤษอ่าน

          แต่ปัญหาก็คือเราหาหนังสือที่เหมาะกับระดับความรู้ภาษาอังกฤษเราไม่ได้สักที บางเล่มก็รู้สึกว่าง่ายไปไม่ค่อยได้ฝึกคำศัพท์ใหม่ ๆ บางเล่มก็ยากเกินเหมือนภาษาต่างดาว5555 จนเร็ว ๆ นี้เราบังเอิญได้ไปเจอคนที่พูดถึงเรื่องนี้ในyoutube

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=RVJLw-H0vE0

          จากในคลิป คุณUSAiko พูดถึงเรื่องหลัก Five Finger Rule ซึ่งเป็นหลักง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถหาหนังสือภาษาต่างประเทศที่เหมาะกับระดับของเราได้

          Five Finger Rule

          วิธีทำก็ง่าย ๆ เลยคือก่อนที่จะซื้อหนังสือ ให้น้อง ๆ สุ่มเปิดมาหนึ่งหน้า จากนั้นก็ลองกวาดสายตาอ่านดู และเมื่อเจอคำศัพท์ที่เราไม่รู้ก็ให้ชูนิ้วขึ้นมา โดยจำนวนนิ้วที่เราชูขึ้นมาจะบ่งบอกว่าระดับภาษาในหนังสือเล่มนั้นเหมาะสมกับเราหรือเปล่า

          0-1 นิ้ว : ระดับภาษาในหนังสือง่ายเกินไป

          2 นิ้ว : ระดับภาษาที่เหมาะสมกับน้อง ๆ ที่สุด (คำศัพท์ไม่ยาก ไม่ง่ายเกินไป และน้อง ๆ ยังสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้แบบไม่กดดัน)

          3 นิ้ว : ระดับภาษาอาจจะยากขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เหมาะกับคนที่ต้องการท้าทาย อยากเรียนรู้คำศัพท์ใหม่เยอะ ๆ

          4 นิ้ว : ระดับภาษาอาจจะยากขึ้นมาอีกระดับ ไม่ค่อยแนะนำเพราะอ่านไปนาน ๆ อาจรู้สึกเหนื่อย ถอดใจไปได้

          5 นิ้วขึ้นไป : ระดับภาษายากเกินไป ควรเปลี่ยนเล่มใหม่เป็นเล่มที่ง่ายกว่านี้

ที่มา: https://www.asiabooks.com/breasts-and-eggs-249270.html

          อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนลังเลอยู่ว่าจะซื้อหนังสือเรื่อง BREASTS AND EGGS ดีไหม (แต่พออ่านแล้วก็ขอขายว่าเรื่องนี้ดีจริง สะท้อนด้านมืดของสังคมญี่ปุ่นที่ผู้หญิงต้องเจอ น้องคนไหนสนใจก็ไปตำได้จ้า) เพราะเป็นคนถอดใจง่าย ถ้าศัพท์ยากเกินไป ความอยากอ่านก็จะลดลง เราเลยเอาหลัก Five Finger Rule มาใช้ โดยสุ่มเปิดมาหน้าหนึ่งแล้วอ่าน นับจำนวนคำที่ตัวเองไม่รู้

          จากในภาพจะเห็นว่ามีคำศัพท์ที่ผู้เขียนไม่รู้ 3 คำตามที่ได้ขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ก็อาจจะยากกว่าความสามารถของผู้เขียนนิดหนึ่ง แต่ก็เหมาะจะเอาไว้ใช้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ (ดังนั้นผู้เขียนก็รีบคว้าไปจ่ายตังค์เลยค่ะ5555)

          น้อง ๆ ผู้อ่านบางคนที่อ่านมาถึงตอนนี้แล้วอาจจะคิดว่า แล้วถ้าตัวน้องอยากรู้ภาษาต่างประเทศไว ๆ ไม่ได้ขี้เกียจหรือถอดใจกับการหาคำศัพท์ง่าย ๆ หนังสือที่ระดับภาษายาก ๆ อย่างระดับ 5 นิ้วขึ้นไปก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วมีแนวคิดที่ได้พูดถึงประเด็นนี้คือแนวคิด Input Hypothesis(インプット仮設) ของ Stephen Krashen

          Input Hypothesis คืออะไร?

          Input Hypothesis คือสมมุติฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาที่ 2 (หรือจะภาษาที่ 3 4 ก็ได้ เอาเป็นว่าภาษาอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ภาษาแม่) ที่ Stephen Krashen (หรือที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า คราเชน) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกา ตั้งขึ้นมา โดยในแนวคิดของคราเชนเชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาที่ 2 นั้นเกิดจากการรับเอาข้อมูลเข้ามา หรือที่เรียกกันว่า Input

          การมี Input ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการเรียนภาษาที่ 2 แต่ Inputนั้น ไม่ได้แปลว่าแค่มีเยอะแล้วก็จะดี แต่ Input ที่ดีจะต้องมีคุณภาพ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Comprensible Input(理解可能なインプット

          Comprehensible Inputนั้น จะต้องเป็น Input ที่ผู้รับสามารถทำความเข้าใจได้ และไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป (เพราะ input ที่ยากเกินไปผู้เรียนก็จะไม่เข้าใจ หรือง่ายเกินไป ผู้เรียนก็จะรู้สึกเบื่อและไม่มีพัฒนาการ) โดยในแนวคิดของคราเชนนั้นได้ระบุเอาไว้ว่า ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยการได้รับ Input ที่มีระดับความยากกว่าระดับความรู้เดิมของผู้เรียนเล็กน้อย หรือก็คือหลัก i+1 โดย i จะแทนความรู้ดั้งเดิมของผู้เรียนรู้

          ดังนั้นจาก Input Hypothesis ของคราเชนก็จะทำให้รู้ว่าการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศด้วยการอ่านหนังสือ (หรือก็คือ input) นั้น การอ่านหนังสือที่ยากกว่าระดับความรู้ตัวเองมาก ๆ จะไม่ได้แปลว่าจะทำให้การเรียนรู้ภาษาที่ 2 มีประสิทธิภาพ แต่การอ่านหนังสือที่มีระดับความยากมากกว่าความรู้เดิมของตัวเองเล็กน้อย (หรือ i+1) จะช่วยให้การเรียนรู้ภาษาที่ 2 มีคุณภาพมากกว่า และการจะหาหนังสือที่เป็น i+1 สำหรับน้อง ๆ แต่ละคน ก็สามารถเอาวิธี Five Finger Rule ที่ผู้เขียนได้แนะนำไปก่อนหน้านี้ไปใช้ได้

          แนะนำหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับน้อง ๆ มัธยม

          และแล้วก็มาถึงช่วงแนะนำหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับน้อง ๆ มัธยมกันแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วก็แนะนำยาก เพราะแนวหนังสือที่อ่านก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนเลย ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้น้อง ๆ ลองเปิดเว็บหรือไปยืนเลือกหนังสือที่หมวด Young Adult Book (หรือบางที่อาจเขียนว่าYA Fiction) เลย เพราะเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนในช่วงอายุ 12-18 ปี

          หรือถ้าน้อง ๆ คนไหนไปดูแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะอ่านอะไรดี ก็แนะนำให้ไปดูรายชื่อหนังสือที่ทางนิตยาสารTIME ได้แนะนำเอาไว้ตามลิงก์ข้างล่างได้เลยจ้า


          ก็จบกันไปแล้วกับวิธีหาหนังสือภาษาอังกฤษที่เหมาะกับตัวเอง (หรือน้องคนไหนเรียนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ก็เอาไปปรับใช้กันได้จ้า) หวังว่าบทความนี้จะทำให้น้อง ๆ สามารถเรียนภาษานอกตำราเรียนได้อย่างสนุก และมีประสิทธิภาพค่า

source:

Krashen, Stephen D. 1982. Principles and practice in second language acquisition. Oxford: Pergamon. http://www.sdkrashen.com/content/books/principles_and_practice.pdf

https://readingeggs.com.au/articles/2017/04/07/just-right-books/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *