อีกไม่กี่เดือนก็จะถึงช่วงสอบ A-level ของdek 68 กันแล้ว มีหลายวิชาที่ต้องเตรียมสอบ เนื้อหาที่ต้องอ่าน ไหนจะการบ้านที่ได้รับมอบหมาย อาจทำให้น้อง ๆ รู้สึกกังวลว่าจะเริ่มจากตรงไหน หรือจะอ่านยังไงให้ทัน วันนี้เรามี เทคนิคเตรียมสอบสำหรับวิชาภาษาญี่ปุ่น ให้ได้คะแนนปัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนอ่านหนังสือ เทคนิคจำคำศัพท์ ไวยากรณ์ หรือเคล็ดลับพิชิตข้อสอบ มาสู้ไปด้วยกันค่ะ‼
เช็ครายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.mytcas.com/blueprint/a-level-85-jpn/
ในการเตรียมสอบ ไม่ว่าวิชาใด สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการศึกษารายละเอียดของวิชานั้นอย่างรอบคอบ เช่น จำนวนข้อ คะแนน เวลาที่ใช้สอบ และขอบเขตเนื้อหาที่ออกสอบ การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถวางแผนและเตรียมตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เมื่อศึกษารายละเอียดของข้อสอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนเตรียมตัวอย่างเป็นระบบ การเริ่มต้นที่ดีคือการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองในแต่ละพาร์ทของข้อสอบ หากใครที่ยังไม่รู้ตัวเองให้ลองคุยกับตัวเองเยอะ ๆ หรือลองจดลงสมุด แนะนำให้ลองทำข้อสอบเก่าจะช่วยให้เห็นภาพรวมของความสามารถตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าส่วนไหนที่ทำได้ดีและส่วนไหนที่ยังต้องพัฒนา ควรจดบันทึกผลการทำข้อสอบลงสมุด จะช่วยให้สามารถวางแผนแก้ไขจุดอ่อนได้ตรงจุดมากขึ้น
- ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมเนื้อหาในแต่ละพาร์ทของข้อสอบ ข้อสอบ A-Level ภาษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในระดับ N4 แต่มีเนื้อหาระดับ N3 ปะปนอยู่บ้าง หากเคยสอบ N4 หรือกำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ สามารถอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือเรียนที่ใช้กันทั่วไป เช่น มินนะโนะนิฮงโกะ ทั้ง 4 เล่ม หรือ อะกิโกะโนะโทะโมะดาจิ ทั้ง 6 เล่ม ควรทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนมาอย่างละเอียด โดยแบ่งการอ่านให้ครอบคลุมทุกพาร์ท ได้แก่ คันจิ คำศัพท์ ไวยากรณ์ และบทอ่าน นอกจากนี้ ควรวางแผนฝึกทำแบบฝึกหัดและข้อสอบเก่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุ้นเคยกับแนวโจทย์และ “จับเวลา” ในการทำข้อสอบจริง
- การวางแผนอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญ และแต่ละคนอาจมีวิธีการจัดตารางที่แตกต่างกันไป บางคนอาจวางแผนเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวัน ขึ้นอยู่กับความถนัดของตัวเอง ควรจัดสรรเวลาให้สมดุลระหว่างการเรียนรู้เนื้อหาและการฝึกทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างแอดจะเก็บเนื้อหาสลับกับทำข้อสอบจริงไปด้วย แต่ละวันจะอ่านภาษาญี่ปุ่นสลับอ่านวิชาอื่นเพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อ นอกจากนี้ ยังสามารถหาสื่อการเรียนเพิ่มเติมได้จากแหล่งออนไลน์ เช่น YouTube โดยลองค้นหาคำว่า “ข้อสอบ A-Level ภาษาญี่ปุ่น” จะพบคลิปติวข้อสอบจากติวเตอร์ชื่อดังหลายคน และหาซื้อหนังสือพัฒนาทักษะที่เหมาะกับสไตล์การเรียนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสรุปเนื้อหา แบบฝึกหัด หรือแนวข้อสอบ
อีกหนึ่งไอเทมสำคัญที่ช่วยให้การเตรียมตัวสอบเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ แพลนเนอร์ การจดบันทึกแผนการอ่านหนังสือในแต่ละวัน จะช่วยให้จัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาได้ดีขึ้น และทำให้มองเห็นภาพรวมของการเตรียมตัว
นอกจากนี้ การใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยจับเวลาและโฟกัสกับการอ่านหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่น่าสนใจ แนะนำแอป YPT ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยจับเวลาอ่านหนังสือ แต่ยังมีฟีเจอร์ที่สามารถอ่านเป็นกลุ่มกับเพื่อน ๆ ได้ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้น อีกแอปที่น่าสนใจคือ Focus Plant แอปนี้เปลี่ยนการโฟกัสไปกับการอ่านหนังสือให้เป็นเรื่องสนุก เพราะสามารถปลูกต้นไม้ไปพร้อมกับการโฟกัสอ่านหนังสือได้ และสะสมแต้มไปแลกเพื่อช่วยปลูกต้นไม้จริง ๆ ได้ ถือเป็นวิธีที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้การอ่านหนังสือไม่น่าเบื่อ
สำหรับการจำคำศัพท์ คันจิ แนะนำแอป Quizlet ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างคลังคำศัพท์ของตัวเอง เสมือนเป็นแฟลชการ์ดที่ช่วยให้ท่องจำได้ง่ายขึ้น หรือหากใครชอบเขียนแฟลชการ์ดเองก็สามารถทำได้ ข้อดีของแฟลชการ์ดคือพกพาสะดวก หยิบขึ้นมาท่องระหว่างนั่งรถได้เพลิน ๆ
ข้อสอบภาษาญี่ปุ่น จะมีพาร์ท
–ไวยากรณ์ แนะนำให้เตรียมเนื้อหาไวยากรณ์ที่ครอบคลุมระดับ N4 โดยอ้างอิงจากหนังสือเรียน มินนะโนะนิฮงโกะ ทั้ง 4 เล่ม หรือ อะกิโกะโนะโทะโมะดาจิ ทั้ง 6 เล่ม หากมีเวลาก็แนะนำให้อ่านเนื้อหาระดับ N3 เผื่อไว้ด้วย ไวยากรณ์ที่คาดว่าออกสอบแน่ ๆ ได้แก่ คำช่วย เช่น で、に、を สำนวนรูปて คำยกย่อง-คำถ่อมตัว สำนวนการให้-รับ คำสกรรมกริยา-อกรรมกริยา และ รูปถูกกระทำ-สั่งให้กระทำ ควรทบทวนโครงสร้างไวยากรณ์ให้แม่นยำ และฝึกทำโจทย์ให้มากที่สุด
-บทสนทนา เป็นพาร์ทที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยกับประโยคที่ใช้บ่อยในสถานการณ์ต่าง ๆ แนะนำให้ฝึกทำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเยอะ ๆ ต้องระวังเรื่อง ระดับภาษากับคู่สนทนา บางข้ออาจต้องใช้เซนส์ในการตอบ คำตอบที่ดูเหมือนถูกต้องอาจไม่เหมาะสมตามบริบท เช่น การใช้รูปสุภาพหรือกันเอง
-การเขียน
พาร์ทดาว ค่อนข้างสร้างความสับสนให้ผู้สอบ เพราะต้องเรียงประโยคให้ถูกต้องและเลือกคำตอบที่เหมาะสม การฝึกอ่านบทความภาษาญี่ปุ่นจะช่วยให้คุ้นเคยกับโครงสร้างประโยคและวิธีใช้คำศัพท์
เรียงประโยค ข้อสอบจะให้ประโยคมาแบบ a b c d และให้เลือกเรียงลำดับที่ถูกต้อง ทริคในการทำข้อสอบแนวนี้คือ ดูตัวเลือกก่อน เพื่อหาจุดเริ่มต้นของประโยค เช่น 1. a c d b 2.a b d c ให้โฟกัสแค่ตัว a ซึ่งมีโอกาสที่จะขึ้นต้นประโยคแรก และสังเกตคำสันธาน เช่น これから หรือ だから ทำหน้าที่เชื่อมประโยค มักจะไม่ขึ้นต้นประโยค
เติมประโยค ข้อสอบจะเว้นช่องว่างไว้แล้วให้เลือกเติมคำตอบที่ถูกต้อง หากรู้ความหมายของตัวเลือกสามารถใช้วิธี ตัดช้อยส์ ได้
ประโยคเหมือน/ต่าง ข้อสอบจะให้ 4 ช้อยส์ แล้วให้เลือกข้อที่มีความหมายต่างจากพวก เป็นพาร์ทที่ต้องใช้สมาธิในการอ่าน เพราะข้อสอบมักจะหลอกด้วยคำที่ดูคล้ายกัน แนะนำให้จดโน้ตสั้น ๆ ไว้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์คำตอบ
-การอ่าน เป็นพาร์ทที่ค่อนข้างสร้างความเหนื่อยล้าให้ผู้สอบ เนื่องจากบทอ่านค่อนข้างยาวและต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ วิธีที่ช่วยให้ทำข้อสอบได้เร็วขึ้นคือ การ skim & scan หรือการจับใจความสำคัญโดยไม่ต้องอ่านทุกคำ ควร อ่านช้อยส์ก่อน เพื่อให้รู้ว่าถามอะไร จากนั้นค่อยหา keyword ในบทความ การฝึกจับเวลาจริงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุ้นเคยกับความกดดันของเวลา และทำให้สามารถอ่านบทความได้เร็วขึ้น
การฝึกข้อสอบเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การเตรียมเนื้อหา โดยเฉพาะเมื่อเวลาเหลือน้อยลง ควรฝึกทำข้อสอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หยิบข้อสอบเก่ามาลองทำพร้อมจับเวลา จากนั้นตรวจคำตอบอย่างละเอียด โดยให้ความสำคัญกับข้อที่ผิด เพื่อทำความเข้าใจจุดผิดพลาดและป้องกันไม่ให้ผิดซ้ำ แนะนำให้จดโน้ตสรุปข้อผิดไว้อ่านทบทวน แอดมองว่าคนเราจะจำข้อผิดพลาดที่ผ่านการลงมือทำได้ดีกว่าการอ่านผ่าน ๆ นอกจากนี้ การฝึกทำข้อสอบเสมือนจริงจะช่วยลดความตื่นเต้นในวันสอบจริง อย่ามองข้ามการฝึกข้อสอบเก่าน้า
ในการทำข้อสอบควรวางแผนจัดการเรื่องเวลาให้ดี ข้อนึงอาจไม่ควรใช้เวลาเกิน2นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารเวลาของแต่ละคน อาจเลือกทำพาร์ทที่ถนัดก่อน หรือทำเรียงตามลำดับก็ได้ หากเจอข้อที่ทำไม่ได้ ควรข้ามไปก่อนแล้วค่อยกลับมาทำทีหลัง
การตัดช้อยส์ที่มั่นใจว่าผิดจะช่วยเพิ่มโอกาสตอบถูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรอ่านโจทย์ให้ละเอียด โดยเฉพาะบทอ่านยาว ๆ ให้มองหาKey Words เพื่อช่วยประหยัดเวลาและทำข้อสอบได้เร็วขึ้น
Link : ข้อสอบเก่าที่แอดเคยรวบรวมมากจากผู้มีน้ำใจหลายๆท่าน เฉลยข้อสอบอาจไม่ถูกต้อง100% https://drive.google.com/drive/folders/1HnTHHDc8lT2zj4MyXRIoe4wwlYlcBfWa
หลายคนต้องเตรียมตัวสอบหลายวิชา แบ่งเวลาแต่ละวิชาให้ดี ที่สำคัญให้ศึกษาข้อมูลคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าว่าต้องใช้คะแนนอะไรและมีสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถวางแผนการเตรียมตัวแต่ละสนามสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคืออย่าหักโหมจนเกินไป ควรจัดตารางอ่านหนังสือและฝึกทำข้อสอบเป็นช่วง ๆ ในแต่ละวันเพื่อป้องกันความเหนื่อยล้า อย่าลืมหาเวลาว่างพักผ่อนและทำสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย อย่าลืมให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ มั่นใจว่าตัวเองก็ทำได้ แอดมองว่าเป็นแรงสำคัญที่ทำให้เรามีกำลังใจสู้ต่อ เพราะอาการหมดไฟเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาเมื่อลงมือทำอะไรสักอย่าง กำลังใจจากตัวเองสำคัญมาก อย่าลืมพูดกับตัวเองทุกวัน ว่า “เราทำได้” ลองดูน้าา
อีกไม่กี่เดือนน้อง ๆ Dek68 ใกล้จะลงสนามสอบจริงแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนในการทำข้อสอบ หลังสอบเสร็จอย่าเช็คคำตอบในโซเชียลนะ! ออกไปเที่ยว พักผ่อน ทานของอร่อยๆ ให้รางวัลตัวเอง… ตอนนั้นผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร อยากบอกว่าทุกคนเก่งมากนะคะ ขอให้ภูมิใจและขอบคุณตัวเองเยอะ ๆ หวังว่าทุกคนจะสมปรารถนานะคะ
ส่วนน้องๆ รุ่นต่อไปที่ตั้งใจจะสอบภาษาญี่ปุ่น แนะนำให้ถ้าเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ
หวังว่าตัวอย่างวิธีเหล่านี้จะทำให้การเตรียมตัวสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสนุกน้า