วิธีค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร

วิธีค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร

            สวัสดีค่ะ น้อง ๆ ทุกคน ช่วงนี้คิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะยังใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้านกันกับครอบครัวใช่ไหมคะ แล้วบทสนทนาส่วนใหญ่ที่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่จะคุยก็หนีไม่พ้นไปจากถามว่า “โตขึ้นอยากทำอะไร” “จบม.ปลายไปจะไปเรียนอะไร” “จบมหาลัยแล้วจะทำงานอะไร” ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คน (รวมถึงผู้เขียน) พอโดนถามก็ตอบไม่ถูก เพราะก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไรจริง ๆ หรือยังค้นหาตัวเองไม่เจอ และคำตอบนี้ของเราก็ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้ใหญ่ไม่พอใจ คิดว่าเราเป็นคนไม่มีเป้าหมายเท่านั้น แต่ตัวเราเองก็เกิดความไม่มั่นใจกับอนาคตตัวเองด้วย

            จริง ๆ แล้วผู้เขียที่ตอนนี้ก็ยังเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ที่ Clearnote และเป็นหนึ่งในคนที่โดนถามด้วยคำถามเหล่านี้ ก็ยังไม่มีแผนการที่แน่ชัดกับอนาคตตัวเอง แต่ในฐานะที่เคยตัดสินใจเส้นทางชีวิตสำคัญ ๆ ของตัวเองมา 2 ครั้ง คือ 1.ตอนที่เลือกสายการเรียนและโรงเรียนม.ปลาย กับ 2. ตอนที่เลือกคณะ มหาวิทยาลัย ป.ตรี เรามีวิธียังไงที่จะช่วยค้นหาตัวตนได้ ไปดูกันเลย !

            1. สังเกตตัวเองว่าชอบอะไร

            เรียกได้ว่าเป็นวิธีเบสิคที่สุดเลยทีเดียว โดยเราอาจสังเกตดูก็ได้ว่าเราชอบเรียนวิชาอะไร (หรือถ้าไม่รู้ตัวเอง เราอาจดูก็ได้ว่าวิชาไหนที่เรารอ อยากจะเรียนคาบต่อไป) หรือถ้าไม่มีวิชาที่ชอบเป็นพิเศษก็อาจจะหาวิชาที่ทำได้ดี ได้รับคำชมเยอะ หรือก็คือวิชาที่ถนัดนั่นเอง วิธีนี้แน่นอนว่าใช้ได้ไม่ใช่แค่กับวิชาเท่านั้น ยังใช้ได้กับกิจกรรมต่าง ๆ ก็ได้ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม เล่นดนตรี ทำขนม ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ

            เมื่อเรารู้ตัวเองแล้วว่าชอบอะไรก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้ว่า เราจะสามารถเอาสิ่งนี้มาเป็นงานได้ไหม หรือสิ่งนี้ ทักษะนี้สามารถเอาไปพัฒนา ต่อยอดเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง

            2. สังเกตว่าตัวเองไม่ชอบอะไร

            จากข้อที่แล้วที่ให้สังเกตว่าตัวเองไม่ชอบอะไร แล้วก็มาดูข้อตรงข้ามกันบ้างก็คือสังเกตว่าตัวเองไม่ชอบ ไม่ถนัด หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง อย่างผู้เขียนเป็นคนที่เรียนเลขได้ แต่เรียนวิทย์ หรืออะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่ได้เลย ดังนั้นผู้เขียนเลยเลือกเรียนสายศิลป์ซึ่งเป็นทางที่ผู้เขียนมั่นใจและถนัด นอกจากนี้อาจสังเกตว่าเรากลัวอะไรก็ได้ เช่น ถ้าเป็นคนกลัวเลือดก็อาจจะต้องทำใจว่าถ้าเรียนหมอก็ต้องเจอเลือดอีกเยอะ ถ้าใครใจฮึดสู้ก็ไปเลย แต่ใครไม่ไหวก็อาจต้องลองคำนึงถึง choice อาชีพอื่น ๆ

            แต่แน่นอนว่าถ้าน้องคนไหนรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด แต่ก็ยังชอบ อยากลองท้าทาย ก็แนะนำว่าลุยเลยยย ถึงเราจะไม่ได้ตอนนี้ แต่ความเก่งสร้างกันได้ ดังนั้นถ้าน้องมีความอดทน มีความพยายาม อะไรก็ไม่ยากเกินเอื้อม!

            3. ถามตัวเองว่าให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิต

            อยู่ ๆ ก็มาถึงเรื่องที่ดูจริงจังขึ้นมา แต่ในชีวิตจริงเราอาจลองถามตัวเองดูว่าในอีก10 20 ปีข้างหน้า เราอยากให้ตัวเองเป็นแบบไหน อยากเป็นคนที่มีเงิน อยากเป็นคนที่มีความสุข ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก อยากเป็นคนมีเวลา ไม่ต้องมีชีวิตรีบเร่ง อยากเป็นคนมีชื่อเสียง อยากเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายของแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน  แต่เมื่อเรารู้ได้แล้วว่าในอนาคตเราต้องการอะไร เราให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุดในชีวิตการทำงาน และเมื่อเรารู้แล้วกรอบของอาชีพที่ตรงกับเงื่อนไขที่เราคิดก็จะแคบลง และเราก็จะสามารถเลือกได้ว่างานไหน อาชีพไหนตรงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด

            4. ลองทำอะไรใหม่ ๆ

            ที่จริงผู้เขียนคิดว่าสาเหตุที่หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองอยากทำอะไร อยากเป็นอะไรก็เพราะชีวิตประจำวันซ้ำซากจำเจ ตื่นนอน เรียน ทำการบ้าน นอน วนลูปไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีโอกาสได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้โลกที่ตัวเองเห็นอาจแคบโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราลองหาโอกาสทำอะไรใหม่ ๆ เช่น ลงเรียนคอร์สวิชาที่เราสนใจหรือไม่เคยได้เรียนมาก่อน ลองเข้า Workshop ลองทำงานพิเศษ หรือฝึกงานดู ก็จะทำให้เราได้ลองผิดลองถูก ได้เห็นสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม หรือได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าเราอยากทอะไรในอนาคต โดยถ้าน้องคนไหนไม่รู้ว่าจะไปหาคอร์สหรือ workshop ได้จากไหนก็ลองไปส่องกันในบทความ ทำยังไงให้ปิดเทอม Productive ได้เลย!!!

            5. ตัดสินใจด้วยตัวเอง

            ข้อสุดท้าย แต่สำคัญที่สุดคืออนาคตของเรา เราควรจะตัดสินใจเอง ไม่ควรให้ใครมาตัดสินใจแทน ยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของพี่ชายของผู้เขียนที่เข้าคณะสายวิทย์ชื่อดังแห่งหนึ่งตามที่ทางบ้านต้องการ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้อยากเรียนขนาดนั้น จนท้ายที่สุดหลังจากจบป.ตรี ก็ไปต่อป.โท คณะที่ตัวเองใฝ่ฝัน ซึ่งเมื่อมองจากมุมผู้เขียนที่เป็นน้อง ก็คิดว่าถ้าพี่ได้ไปเรียนคณะที่ตัวเองอยากเข้าตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้ก็อาจจะมีความสุขมากกว่านี้

            แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัว แต่คิดว่ามีน้อง ๆ หลายคนที่เพื่อนสนิทของตัวเองจะไปเรียนสาย คณะ หรือมหาวิทยาลัยอีกที่หนึ่ง เลยเกิดความลังเลว่าจะไปตามเพื่อนตัวเองดีหรือเปล่า แต่ผู้เขียนขอยืนกรานว่าการเรียนหรือการทำงานในสิ่งที่จริง ๆ แล้วตัวเองไม่ได้อยากทำหรือไม่ได้เลือกเองนั้นทรมานมาก แม้การอยู่แยกกันกับเพื่อนจะเหงาหรือลำบาก แต่การเป็นเพื่อนกันจริง ๆ แม้จะแยกกันแค่ไหน เมื่อเจอกันก็ยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ นอกจากนี้ทางเลือกที่เราเลือกก็อาจจะมีคนใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ ๆ รออยู่ที่ปลายทางก็ได้ ดังนั้นการยึดมั่น มั่นคงกับสิ่งที่ตัวเองเลือกจึงดีที่สุด

            จบกันไปแล้วกับวิธีการค้นหาตัวเอง ผู้เขียนหวังว่าน้อง ๆ ทุกคนที่ได้อ่านจะหาตัวตนที่แท้จริงและสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ เจอ เป็นกำลังใจให้ทุกคนและเชื่อว่าทุกคนจะมีอนาคตที่สวยงามตามที่หวังไว้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *