จดยังไงให้ปังพร้อมสอบ: รวม 5 วิธีจดโน้ตเตรียมสอบ
เคยเป็นกันไหม?
จดโน้ตไม่ทันที่อาจารย์พูด หรือจดแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่สวยไม่เป็นระเบียบ ไม่รู้ว่าตัวเองจดอะไร ทำเอาไม่อยากอ่านโน้ตที่ตัวเองจดไว้เลย…
เชื่อว่าน้องๆ หลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาแบบนี้(เพราะคนเขียนก็เคยเป็นบ่อยๆ) แถมช่วงนี้เป็นช่วงสอบปลายภาคอันแสนน่าปวดหัว วันนี้ Clearnote เลยขอแนะนำ 5 วิธีจดโน้ตให้สวยปัง เป็นระเบียบน่าอ่าน เตรียมพร้อมสอบให้น้องๆ ได้นำไปใช้กันได้เลย!
1.วิธีจดโน้ตแบบ Cornell (The Cornell Method)
วิธีจดโน้ตแบบ Cornell เป็นวิธีจดโน้ตที่พัฒนาขึ้นโดย Dr.Walter Pauk หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย Cornell สหรัฐอเมริกา
วิธีการจดโน้ตแบบ Cornell เริ่มจากการแบ่งหน้ากระดาษของน้องๆ เป็น 3 ส่วน
- ด้านซ้ายของหน้ากระดาษ: แบ่งเป็นพื้นที่ยาวๆ จนเกือบสุดหน้ากระดาษ ส่วนนี้เอาไว้จด Keyword ของเนื้อหา
- ด้านขวาของหน้ากระดาษ: แบ่งเป็นพื้นที่ยาวๆ จนเกือบสุดหน้ากระดาษเช่นกัน แต่ให้กว้างกว่าด้านซ้ายประมาณ 2 เท่า (สัดส่วนประมาณ 2/3) ส่วนนี้เอาไว้จดเนื้อหาตอนเรียนในคาบ
- ท้ายหน้ากระดาษ: ส่วนท้ายของหน้ากระดาษ เอาให้เขียนได้ประมาณหนึ่ง (3-4 บรรทัด) ส่วนนี้เอาไว้สรุปเนื้อหาในส่วนด้านขวาอย่างสั้นๆ
เวลาที่เราเรียนในคาบ ให้จดเนื้อหาที่อาจารย์สอนลงในด้านขวาของกระดาษ จากนั้นให้เราทวนเนื้อหาให้เข้าใจ จากนั้นเขียน Keyword ของเนื้อหาในด้านขวาลงในช่องด้านซ้าย จากนั้นเวลาจะทบทวนเนื้อหาที่เรียนไปอีก ก็ให้ใช้กระดาษหรือสมุดอะไรก็ได้มาบังด้านขวาของกระดาษเอาไว้ ให้เห็นแต่เพียง Keyword ฝั่งซ้าย แล้วก็พยายามพูด อธิบายเนื้อหาในหน้ากระดาษฝั่งขวาเอาไว้เท่าที่ทำได้ ถ้ายังจำไม่ได้ก็ลองอ่านเนื้อหาฝั่งขวาอีกรอบ วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำได้ สุดท้ายก็จดสรุปสั้นๆ ลงในช่องท้ายหน้ากระดาษ
วิธีการจดโน้ตแบบนี้จะเหมาะกับน้องๆ ที่ต้องจดโน้ตในห้องเรียน แล้วอยากกลับมาทบทวนทีหลังได้ง่ายๆ มีระเบียบ สวยงาม ไม่งง
2.วิธีจดโน้ตแบบเป็นประโยค (The Sentence Method)
วิธีการจดโน้ตแบบเป็นประโยคคือการจดโน้ตแบบเป็นข้อๆ ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ไปเรื่อยๆ โดยแต่ละข้ออยู่ในลักษณะประโยคสั้นๆ ที่มีใจความหลักเพียงอย่างเดียว
วิธีการจดโน้ตแบบเป็นประโยคทำให้เราอ่านโน้ตได้ง่ายกว่าการจดเป็นย่อหน้า เพราะแต่ละข้อจะมีเลขข้อแบ่งย่อยๆ ตลอด และมีแค่ใจความหลักแค่หนึ่งเดียว ทำให้จับใจความได้ง่ายกว่าและไม่สับสน
แต่วิธีจดแบบนี้ก็มีข้อเสียคือ แยกได้ค่อนข้างลำบากว่าข้อไหนเป็นหัวข้อใหญ่หรือหัวข้อย่อย และเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างไร อาจทำให้ทบทวนยากในบางกรณี
วิธีนี้เหมาะกับเวลาที่อาจารย์พูดเร็วมากๆ แต่เนื้อหาที่พูดค่อนข้างเป็นระเบียบอยู่แล้ว ไม่ได้กระโดดข้ามไปมาหรือเปลี่ยนหัวข้อกลางทางกระทันหัน หากใช้วิธีนี้ก็จะทำให้เราจดตามอาจารย์ทัน
3.วิธีจดโน้ตโดยใช้Outline (The Outlining Method)
วิธีจดโน้ตโดยใช้ Outline คือการจดโดยที่ – หรือ dash หรือตัวอักษร ตัวเลขเพื่อบอกว่าอะไรคือหัวข้อ โดยจดให้หัวข้อใหญ่ด้านบนซ้ายสุด แล้วจึงขยับมาขวาล่างเรื่อยๆ เมื่อจดหัวข้อย่อยๆ ต่อๆมา ให้หัวข้อที่มีความสำคัญเท่ากันอยู่ไกลจากหัวข้อใหญ่เท่าๆ กัน
วิธีนี้ทำให้กลับมาทบทวนง่ายเพราะมีความเป็นระเบียบสูง แยกได้ง่ายว่าตรงไหนคือหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย แล้วถ้าอยากจะลองดูว่าตนเองจำสิ่งที่อ่านไปได้ไหมก็แค่ปิดหัวข้อย่อยๆ ไว้ให้เหลือแต่หัวข้อใหญ่ แล้วก็ลองอธิบายหัวข้อย่อยๆ ดูได้เลย
แต่จะใช้วิธีนี้จดโน้ตในห้องได้ น้องๆ อาจจะต้องอ่านเนื้อหามาล่วงหน้าก่อน หรืออาจารย์มีไสลด์ที่แบ่งหัวข้อให้เรียบร้อยแล้ว ไม่งั้นอาจจะยาก เพราะเราจะไม่รู้ว่าแต่ละหัวข้อใหญ่มีหัวข้อย่อยอะไรบ้าง แล้วจะจดเป็นข้อแบบไหนยังไงดี และยิ่งถ้าอาจารย์พูดเร็วมากๆ ก็อาจจะทำให้น้องๆ จดไม่ทันได้
วิธีนี้จะเหมาะกับการจดโน้ตวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ
4.วิธีจดโน้ตโดยใช้ตาราง (The Charting Method)
เริ่มโดยการวาดตาราง แบ่งตารางเป็นหัวข้อตามต้องการ แล้วก็จดเนื้อหาแยกลงไปตามตารางที่แบ่งไว้ได้เลย
วิธีการจดแบบนี้เหมาะกับเนื้อหาหัวข้อใหญ่ๆ หลายข้อ แล้วหัวข้อใหญ่นั้นแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ เหมือนกันแน่นอน และมีข้อให้เปรียบเทียบกันหรือมีความเชื่อมโยงกัน เช่น โครงสร้างของเซลล์พืช แบ่งเป็นผนังเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ ก็อาจแบ่งตารางเป็น หน้าที่ ส่วนประกอบ เป็นต้น
ข้อดีของการจดโดยใช้ตารางคือ ไม่ต้องจดอะไรยาวๆ เพราะตารางทำให้เราสามารถย่อยเนื้อหาจนกลายเป็นคำหรือวลีสั้นๆ แทนได้โดยไม่งง
5.วิธีจดโน้ตโดยใช้ mapping (The Mapping Method)
วิธีการจดโดยใช้ mapping คือการจดโดยใช้ลูกศร เส้น หรือรูปร่างๆ สี ตัวเลขต่างๆ มาช่วยแสดงความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่จด น้องๆ อาจจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว
การใช้ Mapping ทำให้เรามองเห็นภาพของสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้นว่าอะไรอยู่หัวข้อไหน สัมพันธ์กันอย่างไร เพราะมีลูกศร เส้น หรือรูปร่าง สี ตัวเลขต่างๆ เข้ามาช่วย Mind Mapping Method มีข้อดีต่างๆ มากมาย อ่านต่อได้ที่ จดน้อย จำได้มาก เรียนดีขึ้นด้วยเทคนิค MIND MAPPING
วิธีนี้เหมาะกับเนื้อหาที่แบ่งหัวข้อมาดีอยู่แล้ว เพียงแต่ปริมาณเนื้อหาค่อนข้างมากเท่านั้น เพราะ Mapping ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ ได้ง่าย แม้ว่าจะมีหัวข้อย่อยหรือปริมาณเนื้อหามาก
เป็นยังไงกันบ้างวิธีจดโน้ตแบบต่างๆ! จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีไหนวิธีเดียวก็ได้ เพราะวิธีจดแต่ละแบบก็เหมาะกับเนื้อหาและสถานการร์ที่แตกต่างกันไป ถ้าลองประยุกต์ใช้หลายๆ แบบผสมกัน ก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้นะ
Reference
Cornell University. (n.d.). The Cornell Note Taking System. Retrieved from https://lsc.cornell.edu/how-to-study/taking-notes/cornell-note-taking-system/
NGThai. (2018). เซลล์พืช และส่วนประกอบภายในเซลล์. สืบค้นจาก https://ngthai.com/science/15022/plantcells/
Tamm, S. (n.d.). The Sentence Method of Note-Taking: A Quick Guide. Retrieved from https://e-student.org/sentence-note-taking-method/
University of Tennessee at Chattanooga. (n.d.). Common Note-taking Methods. Retrieved from https://www.utc.edu/enrollment-management-and-student-affairs/center-for-academic-support-and-advisement/tips-for-academic-success/note-taking
มูลนิธิสารานุกรมสำหรับเยาวชน. (ม.ป.ป.). เรื่องที่๑ ดวงอาทิตย์ สำหรับเด็กระดับกลาง. สืบค้นจาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=1&chap=1&page=t1-1-detail.html