วิธีเรียนญี่ปุ่นสไตล์เด็กอักษร เอกญี่ ฬ (Part1: วิธีการอ่านสอบ N5-N3, Pat7.3)

วิธีเรียนญี่ปุ่นสไตล์เด็กอักษร เอกญี่ ฬ (Part1: วิธีการอ่านสอบ N5-N3, Pat7.3)

  สวัสดีจ้า กลับมาพบกลับบล็อก Clearnote กันอีกแล้ว บล็อกของเราก็กลับมาที่ซีรีส์เด็กอักษรกันอีกแล้ว โดยวันนี้เราก็จะมาบอกวิธีการเรียนภาษาญี่ปุ่นของเด็กอักษร จุฬา เอกญี่ปุ่นกัน ว่ารับมือกับการสอบ N5 N4 N3 Pat7.3 ยังไง!

  ที่เรารวม N5-N3 กับ Pat 7.3 ไว้ด้วยกันเพราะ Pat7.3 หรือ Pat ภาษาญี่ปุ่นครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ N5-N3(นิดหน่อย)นั่นเอง หนังสือที่อ่าน วิธีทบทวนก็เลยคล้ายๆ กันไปด้วย


วิธีการอ่านไวยากรณ์ให้เข้าใจ

  วิธีการอ่านของเราคือจะไม่อ่านหนังสือเล่มเดียว แต่จะอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม ที่มีหัวข้อเดียวกัน แล้วก็เทียบเนื้อหาของหนังสือหลายๆ เล่มที่อ่านไปว่ามีจุดเหมือน จุดต่างกันยังไง เสร็จแล้วก็สรุปเป็นภาษาของตัวเอง ให้ตัวเองเข้าใจ เวลาที่กลับมาทบทวนตอนหลังก็จะไม่ต้องกลับไปเปิดหนังสือหลายๆ เล่มให้ปวดหัว ทำเหมือนเป็นคัมภีร์ของตัวเองไปเลย

  ในรูปจะเป็นพวกคำศัพท์ ความรู้รอบตัว Idiom เพราะหาโน้ตสรุปไวยากรณ์ไม่เจอแล้ว หลายปีจัด 555 แต่จดประมาณนี้ วาดรูปได้วาดเลย เอายังไงก็ได้ให้ตัวเองเข้าใจง่ายที่สุด

  อย่างตอนแรกๆ ที่เราเรียนภาษาญี่ปุ่นสมัย ม.ปลาย ตอนแรกๆ คือเรียนไม่เข้าใจเลย พวกไวยากรณ์งี้ เพราะมันก็ต่างจากภาษาไทยเยอะอยู่ ผ่านมาเทอมหนึ่งก็เริ่มตามเพื่อนไม่ทัน อาจารย์สอนอะไรเนี่ย ตอนปิดเทอมเลยอ่านทวนที่เคยเรียนมา (โรงเรียนเราใช้ Akiko to tomodachi เรียน) ทั้งเล่ม แล้วก็ไปซื้อหนังสือ Minna no nihongo มาอ่านด้วย พอเปิดเทอมไปเรียนก็เข้าใจมากขึ้นเยอะ พอเข้าใจก็เรียนสนุกมากขึ้น ชอบภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าเดิมอีก


คำศัพท์กับคันจิ ทำยังไงให้จำได้

  คำตอบคือ ต้องใช้ ต้องผ่านตา เท่านั้นเลยถึงจะจำได้ ถ้าเราไม่ใช่อัจฉริยะ ถ้าไม่ได้ใช้สักสองอาทิตย์ รับรองเลยว่าต้องมีลืมบ้างจริงๆ (จนตอนนี้ได้ N1 แล้วยังลืมคันจิอยู่เลย 5555)

  แต่สำหรับน้องๆ มัธยม ไม่ได้มีเพื่อนญี่ปุ่น ไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตจริง จะทำยังไงให้จำได้ดีล่ะ?

  สมัยเราเมื่อสัก 5-6 ก่อน(อดีต dek60 นี่กี่ปีแล้วเนี่ย 555) ก็คือคัดเลยจ้า คัดไปเลยเยอะๆ คัดวนไปให้มันได้ผ่านตา วิธีคัดของเราก็คือ เอากระดาษ A4 หันด้านข้าง มาพับเป็นครึ่งไปสัก 2 รอบ แบ่งกระดาษ 4 ส่วน ทำให้เราคัดได้เยอะๆ โดยไม่เปลืองกระดาษมาก

  สำหรับเราเราว่ามันเป็นวิธีที่ดีนะ เพราะตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นมันเป็นตัวฮิรางานะกับคันจิ ที่มันมีลำดับขีด มีวิธีการเขียนที่ค่อนข้างตายตัว การคัดเลยไม่ใช่แค่ทำให้เราจำศัพท์ได้ แต่ยังทำให้เราลายมือสวยขึ้นมากๆๆๆ (อย่าลืมเขียนตามลำดับขีดนะ!)

  ตอนแรกๆ ที่เรียน เราเขียนตัวคันจิไม่สวยด้วย ตอนเขียนมือจะเกร็งๆ แข็งๆ รู้สึกเขียนไม่ค่อยไป แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ กล้ามเนื้อมันจะชิน แล้วก็เขียนได้แบบผ่อนคลายมากขึ้น จนสุดท้ายเราสามารถเขียนได้โดยไม่ต้องคิดเลยว่าตัวอักษรแต่ละตัวเขียนยังไง เพราะกล้ามเนื้อเราจำวิธีการเขียนได้โดยอัตโนมัติ

  วิธีอื่นๆ ก็มีใช้บัตรคำศัพท์บ้าง ใช้แอปฯ Quiz คำศัพท์บ้าง แล้วก็อ่านนิยาย อ่านการ์ตูน อ่านข่าวเป็นภาษาญี่ปุ่น (เดี๋ยวจะมาแนะนำหนังสือที่อ่านกับแอป แล้วก็เว็บไซต์อ่านนิยายภาษาญี่ปุ่นฟรีๆ ใน Part 2)

  การอ่านการ์ตูน อ่านนิยายช่วยเรื่องการอ่านมากๆ เพราะเราชอบอ่านการ์ตูนกับนิยายอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกไม่ฝืน อ่านได้เรื่อยๆ อ่านได้ทั้งวัน อ่านตั้งแต่อ่านไม่ออกจนอ่านออก ถ้าน้องๆ ไม่ได้อ่านการ์ตูนก็อาจจะต้องหาอย่างอื่นที่เราชอบหรือไม่ฝืนมากเกินไปมาลองอ่านดู เช่น นิทานเด็ก นิตยสาร

  หรือจริงๆ เล่นทวิตเตอร์ sns เป็นภาษาญี่ปุ่นก็ช่วยนะ ลองอ่าน status ดาราที่เราชอบงี้ หรือข่าวNHK yahooในทวิตเตอร์ ให้ภาษาญี่ปุ่นได้ผ่านตาเราบ้างดู


แล้วการพูดกับฟังล่ะ? ฝึกยังไงดี?

  วิธีที่ดีที่สุดก็คือฝึกพูดกับคนญี่ปุ่นหรือหาเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นไปเลย ใช้แอปฯ ไรงี้ แต่เราก็ไม่ค่อยได้ใช้เหมือนกัน เพราะไม่ได้เป็นถนัดคุยผ่านแอปฯ เท่าไร (แต่น้องๆ คนไหนถนัดก็ขอแนะนำเลย ได้คุยกับเจ้าของภาษาดีที่สุดแล้วจริงๆ)

  ส่วนใหญ่เราก็เลยเน้นดูอนิเมะ ดูละคร แล้วลองพูดตามเอา ทำให้ตัวเองชินกับวิธีการพูด การออกเสียงคำ แล้วก็บริบท ฟังเพลงแล้วร้องตามก็ช่วยนะ

  แล้วก็ลองติดตาม Youtuber คนญี่ปุ่นใน Youtube ดู อันนี้คือดีมากๆ เพราะมีให้ดูเยอะมาก ทำให้เราไม่ค่อยเบื่อ แถมสำเนียงการออกเสียงยังหลากหลายด้วย ทำให้เราคุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่นของคนหลายๆ แบบ คือถ้าเราฟังข่าวอย่างเดียวงี้ เราจะคุ้นกับสำเนียง วิธีการออกเสียงที่พูดชัดๆ เอื้อต่อผู้ฟังมากๆ แค่แบบเดียว แต่ในชีวิตจริง คนญี่ปุ่นก็เหมือนคนไทย และคนชาติอื่นๆ เขาก็มีภาษาถิ่น มีวิธีการพูดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน การได้ฟังคนหลายๆ คนพูดเลยช่วยได้เยอะมากๆ เลย

  อย่างเราชอบดูแคสเกมผี ก็คือเปิดวนไป เพลินๆ ไม่เครียด แถมได้ฝึกฟังด้วย


  สรุปวิธีเรียนของเราคือ พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บีบให้เราได้ใช้ ได้พูด ได้ฟังภาษาญี่ปุ่นเยอะๆ ซึ่งถ้าเราไม่มีก็อาจจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมแบบนั้นขึ้นมาเอง มันอาจจะยากหน่อยในตอนแรกๆ แต่ถ้าเราชินแล้วมันจะรู้สึก เห้ย ก้ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ เพราะมันกลายเป็นชีวิตประจำของเราไปแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *