วิธีเรียนภาษาญี่ปุ่นสุดเริ่ด ก่อนไปเรียนต่อญี่ปุ่น

วิธีเรียนภาษาญี่ปุ่นสุดเริ่ด ก่อนไปเรียนต่อญี่ปุ่น โดย Janessa Roque

  เริ่มก่อนได้เปรียบ! มาเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นกันก่อนไปเรียนที่ญี่ปุ่นดีกว่า Janessa Roque นักศึกษาฝึกงานจาก SchoolLynk media เธอคนนี้มีดีกรีนักศึกษาปริญญาเอกจากโตเกียวแถมพ่วงด้วยตำแหน่งอาจารย์ จะมาบอกเคล็ดลับการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้เริ่ดสุด น้องๆ นักเรียนและคนที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองเตรียมตัวอ่านต่อกันได้เลย!


  ตอนที่เพิ่งย้ายมาอยู่โตเกียว ตัวเราโชคดีที่มีเพื่อนหลายๆ คนอาศัยอยู่ที่นี่อยู่แล้ว มาช่วยให้เราตั้งหลักได้ แถมยังได้รู้คำทักทายภาษาญี่ปุ่น ประโยคภาษาญี่ปุ่นที่ใช้บ่อยๆ ภาษาปากต่างๆ มากมายจากพวกเพื่อนๆ อีกด้วย

  แต่ก็มีเพื่อนๆ หลายคนเหมือนกันที่มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นเลยเหมือนกัน

  มันก็เข้าใจได้ เพราะพวกเราส่วนใหญ่เรียนหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ถึงเราจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเวลาเรียน ภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานกับคำทักทายในชีวิตประจำวันก็ยังสำคัญอยู่ดี ถ้าเตรียมตัวมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เช่น การอ่าน-เขียน ตัวฮิรางานะ คาตาคานะ (เรียกรวมๆ ว่าตัวอักษรคานะ) ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ช่วยได้มากแล้ว ถ้าฝึกบ่อยๆ สัก 2-3 อาทิตย์ ก็น่าจะพอจะอ่านเขียนได้แล้ว

  ถึงน้องๆ จะเขียนหรืออ่านได้ช้ามากๆ ก็ไม่เป็นไรเลย เป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะน้องๆ กำลังอยู่ในช่วงจดจำคำศัพท์ใหม่อยู่ เลยจะยังเดาไม่ได้ว่าแต่ละคำอ่านว่ายังไง ก็เลยอ่านได้ช้า ในภาษาแม่ถ้าเราเจอคำใหม่ที่เราไม่รู้จักมาก่อน หรือเราอ่านหนังสือที่เก่ามากๆ อ่านข้อความที่ซับซ้อน มีคำยาวๆ มีวลีที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็จะอ่านได้ช้าแบบนี้เหมือนกัน ที่สำคัญกว่าคือถ้าน้องๆ อ่านตัวอักษรคานะได้ น้องๆ ก็ใกล้จะเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเวลามาเรียนที่ญี่ปุ่นขึ้นอีกหนึ่งเสต็ปแล้วนะ

  ไม่ใช่แค่นั้นนะ ถ้าน้องๆ อ่านเขียนตัวคานะได้ ก็จะหาเพื่อนได้ง่ายขึ้น แล้วก็เข้าถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้มากกว่าด้วย ทำให้การมาเรียนต่อขอน้องๆ เต็มไปด้วยประสบการณ์ดีๆ มากมายที่ญี่ปุ่น เราทำงานเป็นครูอยู่ที่ประเทศตนเอง เพราะงั้นเราก็หวังว่าเคล็ดลับพวกนี้จะช่วยทุกคนที่อ่าน เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นได้!

ถามตัวเองก่อนเลย : แรงจูงใจในการมาเรียนต่อญี่ปุ่นคืออะไร

  สิ่งแรกที่น้องๆ จะต้องทำถามตัวเองให้ดีคือ ทำไมถึงอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะอยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็เป็นเหตุผลที่ดีแล้วแหละ แต่น้องๆ ก็ต้องถามตัวเองต่อด้วยว่า ทำไมถึงอยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ทำไมต้องเป็นญี่ปุ่น

  น้องๆ ต้องรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจของเรา เพราะแรงจูงใจนี่แหละที่จะช่วยให้เราผ่านการเรียนภาษาใหม่ไปได้ เพราะการเรียนภาษาใหม่ โดยเฉพาะถ้าภาษานั้นต่างจากภาษาแม่ของเรามากๆ มันจะยากแล้วก็ทรมานในหลายๆ ช่วง (เช่น คนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จะเรียนภาษาเยอรมันได้ง่ายกว่า เพราะทั้งสองภาษา เป็นภาษาที่แยกมาจากภาษาเดียวกัน แต่ภาษาญี่ปุ่นอาจจะยากกว่าสำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เพราะสองภาษานี้แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ยกเว้นที่ภาษาญี่ปุ่นยืมคำบางคำมาจากภาษาอังกฤษ) ยิ่งเรียนก็จะรู้สึกยากขึ้น ทรมานขึ้น แรงจูงใจของน้องๆ แล้วก็เป้าหมายที่จะไปเรียนต่อญี่ปุ่นจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้น้องๆ ไม่ยอมแพ้ไปก่อน  

รู้จักตนเอง: รู้ว่าตนเองจะเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีไหน

  ถ้าน้องๆ ผู้อ่านรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองจะเรียนรู้ จดจำได้ดีด้วยวิธีไหนแล้วละก็ ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วย! เพราะสิ่งนี้จะมีประโยชน์มากๆ ในการเรียนภาษาญี่ปุ่น (แล้วก็การเรียนสิ่งอื่นๆ ด้วย) ถ้ายังไม่รู้ เราก็จะมาบอกเคล็ดลับให้น้องๆ เอง การรู้ว่าตนเองเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีไหน เรียกว่า “การรู้คิด” วิธีนี้เป็นวิธีที่จะทำให้น้องๆ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเรียนด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

  ลองคิดดูว่าน้องๆ เป็นยังไง หรือเคยเป็นยังไง ตอนเรียนในห้อง อะไรเป็นสิ่งจูงใจที่ทำให้น้องๆ อยากเรียน คำพูด การฟัง การพูด รูปภาพ วิดิโอต่างๆ หรือว่าเป็นกิจกรรมภายในห้องเรียนกันแน่ น้องๆ เรียนได้ดีกว่าในสถานที่ที่เงียบสงบหรือที่ที่มีเสียง ไม่อยากเรียนคนเดียว อยากเรียนกับเพื่อนมากกว่ารึเปล่า  การรู้จักเงื่อนไขพวกนี้และรู้จักตนเองให้ดี จะทำให้น้องๆ เรียนภาษาญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ น้องๆอาจจะเหมาะกับการเรียนด้วยการฟัง Podcasts หรือวิดิโอใน Youtube หรือเขียนสิ่งที่เรียนอยู่ไปด้วย น้องๆ จะใช้วิธีพวกนี้ไปพร้อมๆ กันก็ได้ แต่การรู้ว่าวิธีไหนเหมาะกับตัวเราที่สุด จะทำให้เลือกทางที่เหมาะกับตัวเองที่สุดได้ง่ายกว่า เวลาที่อยากจะเรียนแค่นิดหน่อย วิธีนี้ยังทำให้น้องๆ คัดวิธีที่ไม่เหมาะและไม่ได้ผลกับตัวเองออกไปได้อีกด้วย

วิธีเรียน: แล้วผู้เขียนเริ่มเรียนยังไง

เรียนภาษาที่ต้องการ ผ่านภาษาแม่ของตัวเราเอง

  ลองเรียนภาษาญี่ปุ่นผ่านภาษาแม่ของน้องๆ เอง ถ้าน้องๆ มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ น้องๆ ก็จะโชคดีหน่อย เพราะมีหนังสือและสื่อการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นจำนวนมากที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ถ้าน้องๆ ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  น้องๆ จะต้องลองหาบทเรียนภาษาญี่ปุ่นที่สอนเป็นภาษาของน้องๆ เอง แล้วก็ลองดูว่า มันพอที่จะใช้เรียนไหม ตอนที่ตัดสินใจ น้องๆ จะต้องหาทางที่น้องโอเคให้ได้ หรือถ้าเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แล้วคิดว่าตัวเองใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร แล้วสื่อการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นที่เขียนเป็นภาษาแม่ของน้องๆ มีไม่พอ ก็ลองเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษเรียนก็ได้ (หรือภาษาอื่นๆ ที่พูดได้ แล้วมีสื่อการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในภาษานั้นมากกว่าภาษาแม่)

หาจุดเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับภาษาญี่ปุ่น

  เคล็ดลับอีกหนึ่งอย่าง คือ การหาจุดเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับภาษาญี่ปุ่น พอน้องหาแรงจูงใจของตัวเองเจอแล้ว ก็ลองมองหาสิ่งที่เราสนใจ อาจจะเป็น อนิเมะ มังงะ หรือเพลง JRock ก็ได้ หรืออาหารญี่ปุ่น ศิลปะป้องกันตัวแบบญี่ปุ่นก็ได้ทั้งนั้น การรู้ว่าอะไรคือจุดเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับภาษาญี่ปุ่น จะทำให้น้องๆ มีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่ได้เรียนแต่จากในหนังสือเรียนที่ทุกคนเรียนกัน แต่น้องๆ ยังพัฒนาความรู้และข้อมูลเฉพาะของตัวเองที่จะหยิบมาใช้พูดคุยกับคนอื่นๆ ได้เวลาที่น้องๆ ไปเรียนที่ญี่ปุ่น แม้ว่าสกิลภาษาของน้องๆ จะไม่ได้ดีมากก็ตาม

  เวลาที่น้องๆ มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่น นักเรียนชาวต่างชาติทุกคนจะได้เรียนวิธีแนะนำตัวเองว่าชื่ออะไร มาจากประเทศไหนเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ถ้าน้องๆ มีความรู้เรื่องชาญี่ปุ่น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็จะต้องทึ่ง ถ้าน้องๆ รู้คำศัพท์ที่เกี่ยวกับศิลปะในแขนงที่ละเอียดอ่อนขนาดนี้ น้องๆ อาจจะรู้คำที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่รู้จักก็ได้ การรู้อะไรแบบนี้จำให้น้องๆ ผู้อ่าน มั่นใจได้ว่าน้องๆ จะแสดงความเป็นตัวเองโดยใช้ภาษาใหม่ที่เรียนได้ เพราะน้องๆ ไม่ได้พูดอยู่แค่ ประโยคซำ้ๆ ที่คนอื่นๆ ก็พูดกัน หลังจากนั้นน้องๆ ยังเรียนรู้คำศัพท์อื่นๆ ได้จากการขยายขอบเขตสิ่งที่ตัวเองสนใจระหว่างที่เรียนต่อในญี่ปุ่นผ่านประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นได้อีกด้วย

Comprehensible input (ข้อมูลที่เข้าใจได้ ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป)

  เราศึกษาเรื่อง Comprehensible input มาจาก วิดิโอช่อง What I’ve Learned ใน YouTube  เรื่องนี้น่าสนใจที่สุดแล้ว แถมมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนภาษารองรับด้วย สรุปจากวิดิโอ คือ เขาบอกว่าเราจะเรียนภาษาได้ดีที่สุด ไม่ใช่จากวิธีเรียนแบบที่ให้พูดให้เขียนให้ทำจริง แต่มาจากการที่เรารับ เราซึมซับภาษาเข้ามา เคล็ดลับในการเรียนภาษาที่พูดถึงในวิดิโอนี้ก็มี การดูซีรีส์ ดูหนังที่มีซับภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ดูซ้ำอีกรอบเป็นซับภาษาอังกฤษ(หรือภาษาแม่ของเรา) เคล็ดลับบางอย่างในบทความนี้ก็มีในวิดิโอด้วย เช่น การ shadowing (พูดภาษาญี่ปุ่นตามวิดิโอหรือคลิปเสียง) การเรียนรู้ผ่านบริบทการสนทนาตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น

มุ่งไปข้างหน้า: เตรียมตัวสำหรับการผจญภัย เรียนต่อที่ญี่ปุ่น!

ฝึกพูดกับคนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาญี่ปุ่น

  หลังจากที่น้องๆ เรียนภาษาญี่ปุ่นกันมาบ้างแล้ว คราวนี้ก็มาหาทางที่น้องๆ จะได้ฝึกพูดกับคนญี่ปุ่นจริงๆ กัน แอปบางแอปอย่าง Duolingo หรือ Memrise มีคลิปเสียงพูดของคนญี่ปุ่นในบทเรียน ก็จริงที่ว่ามันมีประโยชน์ แล้วก็สอนให้เราออกเสียงได้อย่างถูกต้อง แต่ก็มีแค่ไม่กี่แอปเท่านั้นที่ให้ feedback ว่าเราพูดถูกพูดผิดยังไงกลับมา แต่ถึงอย่างนั้นวิธีนี้ก็ยังไม่เรียกว่าการสนทนาอยู่ดี วิธีฝึกภาษาญี่ปุ่นที่ดีที่สุด ก็คือการพูดคุยกับคนจริงๆ แม้ว่าน้องๆ จะยังไม่ได้ไปญี่ปุ่นก็ตาม

  ถ้าน้องๆ มีเพื่อนคนญี่ปุ่น ก็ลองหาทางคุยกับเพื่อนเป็นภาษาญี่ปุ่นดู บางทีเราอาจจะแลกกันสอนภาษาของตัวเองหรือภาษาที่ตัวเองถนัดให้กับเพื่อนด้วยก็ได้  อย่างภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นก็หาทางฝึกภาษาอังกฤษอยู่เหมือนกัน

  อีกทางที่จะได้ฝึกพูดกับคนญี่ปุ่นก็คือ การหาคอร์สเรียนดู ถึงจะต้องใช้เงินบ้าง แต่การได้มีอาจารย์ที่พูดคล่องๆ หรืออาจารย์คนญี่ปุ่นก็อาจจะดีกว่าสำหรับน้องๆ เพราะคุณครูจะช่วยให้ Feedback เราได้ว่าเราพลาดอะไรหรือทำอะไรได้ดี แน่นอนว่ามันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณครูของน้องๆ เก่งแค่ไหน แล้วก็คอร์สเรียนที่น้องๆ อยากจะสมัครเรียนด้วย เพราะฉะนั้น น้องๆ ต้องลองศึกษาดู ถามคนที่เคยเรียนคอร์สนั้นมาก่อน แล้วก็ลองดูว่ามันคุ้มกับเงินของน้องๆ ไหม ขอบอกอีกรอบว่ามันมีทางที่น้องๆ จะเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์แบบฟรีๆ ขอแค่น้องๆ มีอินเทอร์เน็ต

  เวลาที่เราเรียนภาษาญี่ปุ่นกับคนญี่ปุ่น ให้น้องๆ ลองเลียนแบบวิธีพูดของเขาดู วิธีนี้เรียกว่าการ shadowing  เทคนิคนี้เป็นวิธีที่ดี เพราะทำให้กล้ามเน้ือหน้าและปากของเราคุ้นเคยกับการออกเสียงเหมือนกับคนญี่ปุ่น น้องๆต้องอย่าลืมว่า muscle memory (ความทรงจำของกล้ามเนื้อ) เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และพูดภาษา เพราะเราต้องใช้กล้ามเนื้อในการพูด

เรียนรู้ผ่านบริบท

  ภาษาไม่ได้มีแค่การพูดและเขียนเท่านั้น ภาษากายและบริบทในการกระทำและคำพูดก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมและภาษาญี่ปุ่น ในภาษาญี่ปุ่นมีศัพท์แสลงว่า   KY (มาจาก kuuki Yomenai) แปลประมาณว่า “ไม่อ่านอากาศ”หรือ”ไม่อ่านบรรยากาศ” คำๆ นี้ไว้ใช้เรียกจนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่อ้อมโลกมาก คนญี่ปุ่นมักไม่อยากพูดอะไรชัดๆ เพราะมันอาจจะตรงเกินไป เช่น เวลาถามทางในภาษาญี่ปุ่น ปกติก็จะพูดว่า “Ano, ikitaindeskedo…” (เอ่อ อยากไปจะที่…น่ะค่ะ…) ต้องจำไว้ว่ามี ano (เอ่อ…) ใช้เกริ่น ก่อนที่จะพูดประโยคถัดไป จริงๆ ประโยคนี้ไม่ได้เป็นประโยคร้องขอความช่วยเหลือโดยตรง แต่หวังให้ผู้ฟังเข้าใจบริบทที่ว่าจริงๆ แล้วผู้พูดต้องการถามทาง

  คนญี่ปุ่นรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้พูดตรงๆ เพราะฉะนั้นพวกเขาก็จะไม่ถือโทษโกรธอะไรหรอก ถ้าชาวต่างชาติไม่เข้าใจ โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติที่ยังเด็กๆ อยู่ แต่ว่าการรู้เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก็จะช่วยน้องๆ ได้ในการเรียนรู้ว่า คนญี่ปุ่นปกติแล้วเขาคุยกันยังไง เรื่องการพูดอ้อมโลกของคนญี่ปุ่นทำให้เราเห็นว่าเราจะเรียนภาษาได้ดีกว่าถ้าเราเรียนรู้โดยมีบริบท ไม่ใช่แค่จำโครงสร้างทางไวยากรณ์เดี่ยวๆ

ฝึกอีก ฝึกอีกนิด แล้วก็ฝึกอีก!

  น้องๆ อาจจะได้ยินเคล็ดลับนี้มาไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ก็เพราะมันเป็นเรื่องจริง หลังจากที่เราเรียนภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นแล้ว น้องๆ ต้องพยายามฝึกฝนสิ่งที่เรียนไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากฝึกโดยการพูดคุยกับคนญี่ปุ่นแล้ว น้องๆ ยังฝึกได้จากการ คิดเป็นภาษาญี่ปุ่น ปกติเราจะคิดเป็นภาษาแม่ของเรา แต่น้องๆ สามารถลองคิดเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ เพื่อฝึกฝนเรื่องโครงสร้างประโยค อย่างเช่น เวลาที่เราเห็นอะไรสุดยอดมากๆ น่าตกใจมากๆ น่าสนใจมากๆ ก็ลองบรรยายสิ่งนั้นหรือความบรรยายความรู้สึกของน้องๆ ต่อสิ่งนั้นๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นในหัวดู (หรือจะพูดออกมาดังๆ ก็ได้ ถ้าอยากพูด!) “Ano kuruma wa subarashiidesu!” (รถคันนั้นเจ๋งไปเลย!) หรือ “Tanoshikatta!” (สนุก!) วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆ ในการฝึกภาษาญี่ปุ่นของน้องๆ แล้วก็ยังมีวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น ฝึกเขียน ฝึกพูดระหว่างที่อ่าน หรือพูดตามสิ่งที่ได้ยินในหนังในทีวี หรือในแอปเรียนภาษา น้องๆ ต้องลองหาวิธีดูว่าจะฝึกโครงสร้างประโยค การเขียน การพูดได้ยังไง บางคนถึงขนาดพูดกับตัวเองดังๆ หน้ากระจกเป็นภาษาที่เรียนเลย 

เรียนรู้ผ่านความผิดพลาด

  สิ่งสุดท้ายคือ ต้องไม่กลัวที่จะผิดพลาด ลองพูดให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะพูดผิดก็ตาม น้องๆ อาจจะตกใจว่าเราเรียนรู้ผ่านความผิดพลาดได้ดีขนาดนี้เลยเหรอ เลยก็ได้ เคยได้ยินประโยคที่ว่า “ล้มแล้วต้องลุก” ไหม ประโยคนี้หมายความว่า ถ้าเราเรียนรู้ผ่านความล้มเหลว ความผิดพลาด เราจะเรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะเราจะจำสิ่งที่เราผิดพลาดได้แม่นยำนั่นเอง

มาเตรียมตัวไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นกันเถอะทุกคน! Ganbatte kudasai! (พยายามเข้านะคะ)


ประวัติผู้เขียน

Janessa Roque

  Janessa Roque เป็นนักแสดง นักเขียน นักการศึกษา และนักสร้างสรรค์ จากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ Roque มาทำตามฝันด้วยการมาเรียนปริญญาโทที่ Tokyo University of the Arts(東京藝術大学)และจบการศึกษาจากสาขา Global Arts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *