เรียนต่อที่ญี่ปุ่น: 5เคล็ดลับการบริหารเงินสำหรับไปเรียนต่อ

เรียนต่อที่ญี่ปุ่น: 5 เคล็ดลับการบริหารเงินสำหรับไปเรียนต่อ โดย Nicole Warintarawet

ถ้าน้อง ๆ ยังไม่แน่ใจว่าฐานะการเงินทางบ้านพอจะส่งน้อง ๆ ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นได้รึเปล่า มาลองอ่านบทความเพื่อค้นหาคำตอบกันเลย!


ในปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาที่อยากไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาระทางการเงินถือว่าเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างใหญ่ทีเดียว ซึ่งสินเชื่อเพื่อการศึกษาของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเปิดรับแค่นักเรียน นักศึกษาในประเทศ (ซึ่งก็คือคนญี่ปุ่น) ไม่ค่อยมีที่เปิดรับให้นักเรียนชาวต่างชาติอย่างเรา ๆ ทำให้ถ้าที่บ้านของน้อง ๆ ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะซัพพอร์ทได้ ก็อาจไปเรียนต่อได้ค่อนข้างยาก เว้นแต่จะได้ทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนที่จะครอบคลุมตั้งแต่ค่าเล่าเรียนไปจนถึงค่าครองชีพสำหรับนักเรียน นักศึกษาชาวต่างชาติ อย่างทุนมง (ทุนMonbukagakushou หรือทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)

อย่างไรก็ตามถึงน้อง ๆ จะไม่ได้ทุนมง ก็อย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะยังมีทุนการศึกษาอีกมากมายที่จะออกค่าเล่าเรียนให้เรา100% และบางทุนยังให้เงินช่วยเหลือสำหรับค่าครองชีพในแต่ละเดือนอีกด้วย ดังนั้นน้อง ๆ จะสามารถอยู่ญี่ปุ่นได้แบบชิว ๆ โดยไม่ต้องทำงานพิเศษเพื่อหางานเพิ่ม ซึ่งทุนดี ๆ เหล่านี้สามารถหาข้อมูลได้จากลิงก์บทความนี้เลยยยย !

ตอนนี้น้อง ๆ บางคนอาจสงสัยว่าแล้วถ้าทุนที่เราได้เป็นทุนไม่เต็มจำนวน เป็นแค่ทุนที่ออกค่าเล่าเรียนให้บางส่วนแล้วมันจะโอเคไหม? บทความนี้เราจะมาตอบข้อสงสัยนั้น และเอาเคล็ดลับ ทริคดี ๆ ที่จะช่วยให้การเงินของเราในช่วงที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยรอดไปได้ด้วยดี

1. ประเมินค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นตามความเป็นจริง

อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JASSO) ค่าครองชีพที่ญี่ปุ่น (รวมค่าเช่าที่พัก) จะอยู่ที่เดือนละ 89,000 เยน (ประมาณ 26,488 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) ทั้งนี้ค่าครองชีพนั้นจะแตกต่างไปตามแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค เช่น ค่าครองชีพที่กรุงโตเกียว (ที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ๆ )จะอยู่ที่เดือนละ 100,000 เยน (ประมาณ 29,762 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) โดยจากประสบการณ์ของเราแล้ว ถ้าเราทำอาหารกินเองก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามเราแนะนำให้ประเมินงบไว้เผื่อ ๆ หน่อย เพราะถ้าตึงจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้ถ้าอยู่ในระยะยาว ส่วนตัวเราแนะนำให้เผื่องบไว้ 100,000 เยน (ประมาณ 29,762 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) ต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ

ถ้าน้อง ๆ ได้ทุนการศึกษาที่สามารถลดหย่อนค่าเทอมได้แค่บางส่วน ก็ต้องเอาค่าเทอมที่เหลือมาคำนวณเพิ่มด้วย โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้ามหาวิทยาลัยจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 – 400,000 เยน (ประมาณ 59,523 – 119,047 บาทตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่26 สิงหาคม 64) ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย และค่าเล่าเรียนต่อปีจะอยู่มีตั้งแต่ 535,800 เยน (ประมาณ 159,463 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐ ไปจนถึงหลักล้านเยนสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชนของญี่ปุ่น ถ้าน้อง ๆ ไม่ได้ทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวน หรือที่บ้านมีกำลังทรัพย์ที่จะส่งมากเพียงพอ ก็อาจจะค่อนข้างลำบาก เพราะกฎหมายของญี่ปุ่นได้กำหนดให้นักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานพิเศษได้สูงสุด 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. หาทุนเสริมสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

เคล็ดลับนี้ได้ผลมาก ๆ โดยตามปกติแล้วนักศึกษาที่ได้แค่ทุนลดหย่อนค่าเล่าเรียนจะสามารถสมัครทุนเสริมได้ ซึ่งทุนเสริมนั้นจะมีทั้งแบบโอนให้รวดเดียวไปเลย หรือแบบโอนให้รายเดือน

ทั้งนี้บางทุนอาจจะต้องใช้ใบรับรองจากมหาวิทยาลัย ดังนั้นควรเผื่อเวลาในการส่งใบสมัครทุนเสริมเอาไว้ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยจะต้องใช้เวลาในการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยจะรับรอง โดยสามารถดูข้อมูลที่อัพเดทได้ที่ห้องกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ เรียน โดยหากน้อง ๆ อยากดูลิสท์รายชื่อทุนต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นก็สามารถดูได้จากลิงก์ข้อมูลของJASSO ที่นี่

3. ตะลุยทำงานพิเศษ หรือฝึกงาน (ที่มีค่าตอบแทน)

ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างให้เสรีในการหารายได้เสริม สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่มาเรียนด้วยทุนตัวเอง โดยนักศึกษาต่างชาติ ที่มีวีซ่านักศึกษา จะได้รับอนุญาตให้สามารถทำงานได้สูงสุด 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในระหว่างภาคการศึกษา และสามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงปิดภาคเรียนใบไม้ผลิและฤดูร้อน

งานพิเศษถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญสำหรับน้อง ๆ ที่ส่งตัวเองเรียน หรืออยากลดภาระการเงินของคุณพ่อ คุณแม่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  แม้ค่าแรงขั้นต่ำที่ประเทศญี่ปปุ่นจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าทำงานประมาณ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ น้อง ๆ ก็จะสามารถได้ค่าตอบแทนที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตปกติ นอกจากนี้น้อง ๆ ยังสามารถหางานที่เหมาะกับความรู้หรือสกิลที่ตัวเองชอบหรือถนัดได้ เช่น งานสอน งานวิศวะคอมพิวเตอร์ งานออกแบบUI/UX งานกราฟฟิกดีไซน์ ฯลฯ ซึ่งงานที่ต้องใช้ฝีมือ ใช้ทักษะเหล่านี้ นอกจากจะสามารถเอาไปใช้ประดับโปรไฟล์ในการสมัครงานในอนาคตแบบสวย ๆ ปัง ๆ ได้แล้ว ยังได้รับค่าแรงสูงด้วย!

ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจอยากลองหาประสบการณ์การทำงาน การฝึกงานก็ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้เลย!

ส่วนงานพิเศษ เช่น งานพิเศษที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร นั้นค่อนข้างง่าย ไม่ค่อยซับซ้อนมาก ทั้งนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคนหนุ่มสาวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวต่างชาติซึ่งสื่อสารภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานได้ เป็นที่ต้องการและสามารถหางานได้ไม่ยาก ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าน้อง ๆ จะหางานทำไม่ได้ เพราะที่ญี่ปุ่นมีงานพิเศษอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ไปสมัครอยู่

4. ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีการประหยัดค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การทำอาหารด้วยตัวเองไปจนถึงการหารูมเมทมาอยู่ด้วย โดยลิงก์บทความนี้จะเป็นบทความที่จะคอยแนะนำวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งมาอาศัยที่เมืองใหญ่ของญี่ปุ่น

จากประสบการณ์ของเราที่ได้มาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น การรู้จักร้านและซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ที่พัก เช่น รู้ว่าร้านไหนราคาถูกกว่าร้านไหน ของอันนี้ควรซื้อที่ร้านไหน ฯลฯ จะช่วยให้ประหยัดเงินได้ในระยะยาว นอกจากนี้การทำลิสท์ของที่เราต้องการจะซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่งก็จะทำให้ประหยัดได้มากขึ้น ทั้งนี้วิธีนี้จะเวิร์คแค่กับบริเวณที่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของหลาย ๆ ร้านอยู่ในละแวกเดียวกัน 

นอกจากนี้กลยุทธ์ที่สำคัญในการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพคือการอยู่แชร์เฮ้าส์ (share house) ซึ่งห้องในแชร์เฮ้าส์นั้นมักจะมีเฟอร์นิเจอร์มาให้ครบครันอยู่แล้ว ทำให้สามารถย้ายเข้าไปได้สะดวก ไม่ต้องหาซื้อเฟอร์นิเจอร์เอง นอกจากนี้ยังถือเป็นการประหยัดค่าเช่าที่พักอีกด้วย เนื่องจากโดยปกติแล้วแม้แชร์เฮ้าส์กับอะพาร์ตเมนต์จะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันก็ตาม ค่าเช่าแชร์เฮ้าส์มักจะมีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ถ้าน้อง ๆ ไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนแปลหน้า น้อง ๆ อาจลองหารูมเมทมาช่วยหารค่าห้องก็ได้

5. เตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินขณะเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกกก แค่เป็นนักศึกษาแล้วต้องใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำก็ลำบากแล้ว ยิ่งมาเป็นนักศึกษาที่ต่างบ้านต่างเมืองอีกยิ่งลำบากเข้าไปอีก ก่อนที่จะมาที่ญี่ปุ่นควรจะเตรียมเงินอย่างน้อย 100,000 เยน (ประมาณ 29,762 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) เอาไว้เป็นเงินฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องเก็บแยกต่างหากจากบัญชีปกติเพื่อกันไม่ให้เผลอใช้เงินส่วนนี้ และต้องสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ถอนเงินส่วนนี้ออกมาเว้นแต่จะเกิดเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินเท่านั้น

นอกจากนี้ควรเตรียมเงินให้มากพอสำหรับระยะเวลาที่มาถึงญี่ปุ่นในช่วงแรกและยังหางานพิเศษทำไม่ได้ จำนวนเงินที่เตรียมควรมีอย่างน้อย 500,000 เยน (ประมาณ 148,809 บาท ตามอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 64) เอาไว้ใช้จ่ายสำหรับการเช่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ในเดือนแรก ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่จะทำให้น้อง ๆ ไม่รู้สึกกดดันตัวเองจนเกินไปในกรณีที่น้อง ๆ อาจไม่สามารถหางานทำได้ทันทีที่มาถึงประเทศญี่ปุ่น

ส่วนค่ารักษาพยาบาลทั่วไปไม่ค่อยแพงนัก เนื่องจากชาวต่างชาติสามารถทำประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ทำให้จ่ายเองเพียง 30% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากป่วยหนักเป็นโรคร้ายแรง ค่ารักษาพยาบาลก็จะสูง ดังนั้นการเตรียมเงินสำหรับเหตุฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก


ทั้งหมดนี้ก็เป็นคำแนะนำที่เอามาจากประสบการณ์ตรงของเรา ซึ่งเป็นนักศึกษาชาวต่างชาติที่ใช้ทุนตัวเองในการสานฝันไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบางเคล็ดลับก็อาจจะไม่สามารถเอามาใช้ได้กับทุนสถานการณ์เป๊ะ ๆ แต่ก็หวังว่าน้อง ๆ ที่อ่านจะสามารถเอาเคล็ดลับเหล่านี้มาปรับใช้กันได้ ทั้งนี้ตัวอย่างที่ยกมาข้างบนอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ดังนั้นน้อง ๆ ก็อย่าลืมติดตามอัพเดทข้อมูลกับแหล่งข้อมูลทางการด้วย

เราหวังว่าบทความแนะนำการเอาชีวิตรอด (?) นี้จะทำให้น้อง ๆ เห็นภาพว่าการไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นจะต้องคำนึงเรื่องเงินอย่างไรบ้าง แม้การเรียนต่อต่างประเทศจะเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะต้องคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แต่สำหรับเรา เราคิดว่าประสบการณ์ที่ได้จากการไปเรียนต่อต่างประเทศจะทำให้น้อง ๆ เติบโตขึ้นมาก ๆ และสิ่งที่น้องได้รับมาจะคุ้มค่ากับเงินทุก ๆ เยนที่น้องเสียไปกับการเดินทางครั้งนี้

ประวัติผู้แต่ง

Nicole Warintarawet

นิโคล นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยโจฌิ (SophiaUniversity) เป็นคนที่ชอบออกไปผจญภัยตามเมือง เข้าร่วมกิจกรรมชิค ๆ คูล ๆ ทั่วกรุงโตเกียว และรักการไปคาเฟ่เป็นชีวิตจิตใจ


Credit by SchooLynk:

https://schoolynk.com/media/articles/84be670d-c1f1-48e7-a15a-06fca9f1e5ed