ตีแผ่เคล็ดลับเตรียมสอบ จากภาพยนตร์เรื่อง “Biri Gal”

ตีแผ่เคล็ดลับเตรียมสอบ จากภาพยนตร์เรื่อง “Biri Gal”

          สวัสดีจ้า น้อง ๆ มีใครเคยดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นชื่อดังเรื่อง「ビリギャル」หรือ “Biri Gal”  บ้างไหมคะ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยของผู้เขียนเลย ถ้าใครยังไม่รู้จัก เราไปดูเรื่องย่อกันดีกว่า

ที่มา : http://birigal.jp/

          เรื่องย่อ

          ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องจริง โดยคุโด ซายากะ (รับบทโดย Arimura Kasumi) นางเอกของเรื่อง เป็นสาวแกล ที่โหล่ของห้องที่ถึงจะอยู่ชั้นม.5 แต่ความรู้เทียบได้กับแค่เด็กป.4 และก่อเรื่องไม่เว้นวันจนในโรงเรียนต่างเอือมระอา จนมาวันหนึ่งซายากะถูกพักการเรียน แม่ได้ชักชวนให้เธอไปสมัครเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ซายากะได้พบกับอาจารย์ท์ซุโบตะ โนบุทากะ (รับบทโดย Ito Atsushi) อาจารย์สอนพิเศษที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของซายากะให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่นได้ภายใน 1 ปี

ที่มา : https://youtu.be/oyqqcgpWzsM

          เป็นเรื่องราวการฝ่าฟันอุปสรรคของเด็กม.ปลายคนหนึ่งเพื่อเป้าหมายและความฝันของตัวเองที่น่าประทับใจมาก ๆ น้อง ๆ คนไหนที่สนใจก็ลองไปดูกันได้นะคะ และวันนี้เราจะเอาเคล็ดลับที่ซายากะใช้อ่านหนังสือเตรียมสอบมาตีแผ่ให้น้อง ๆ อ่านกันค่ะ รับรองว่าถ้าเอาวิธีอ่านหนังสือของซายากะไปปรับใช้แล้ว เริ่ดปังทุกคน!

          1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

          ก่อนที่จะเริ่มต้นอ่านหนังสือหรือทำอะไร เราต้องกำหนดเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนก่อน โดยจากเรื่องตอนแรกซายากะไม่รู้ถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมาย แต่อาจารย์ท์ซุโบตะได้พูดออกมาว่า「でもさ、無理って思うことを成し遂げたら、自信になるだろ」ซึ่งแปลว่า “แต่ว่านะ การทำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้ลุล่วง ก็จะกลายเป็นความมั่นใจได้นะ” ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นอ่านหนังสือ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะมีเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป เพราะถ้าเรามีความตั้งใจและความพยายามมากพอ ก็จะสามารถทำให้ความฝันที่ตอนแรกเรามองว่าเป็นไปไม่ได้ ให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วความสำเร็จนั้นก็จะทำให้เราเกิดความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเอง

          ทั้งนี้แรงบันดาลใจหรือเหตุผลที่ทำให้เราตั้งเป้าหมายนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องจริงจังก็ได้ เช่น ในตอนแรกที่ซายากะเข้าโรงเรียนม.ต้นของเธอ ส่วนหนึ่งก็เพราะชุดเครื่องแบบนักเรียนน่ารัก น่าใส่ และในตอนที่ซายากะเลือกสอบที่มหาวิทยาลัยเคโอ ก็เพราะที่มหาวิทยาลัยขึ้นชื่อเรื่องหนุ่มหน้าตาดี ดังนั้นเราอาจหาแรงบันดาลใจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย เช่น อยากเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้น เพราะอาคารสวย เพราะอาหารอร่อย เพราะอยากลองเข้าทำกิจกรรมนี้ ๆ หรือแค่เพราะอยากลองchallengeตัวเอง ก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นแล้ว

          2. ไม่กลัวที่จะปูพื้นฐานใหม่

          จากที่ได้เล่าให้ฟังในเรื่องย่อ ถึงซายากะจะเรียนอยู่ชั้นม.5 แล้ว แต่ความรู้ต่าง ๆ ยังอยู่ชั้นป.4 ทำให้ทำคะแนนpre-testของโรงเรียนกวดวิชาได้0คะแนน ถึงอย่างนั้นซายากะก็ไม่กลัวที่จะปูพื้นฐานของตัวเองใหม่หมดเลยโดยการนั่งอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัดสำหรับนักเรียนชั้นประถม ทำให้ต่อมาซายากะคะแนนดีขึ้นเรื่อย ๆ

          การปูพื้นฐานก็เหมือนกับการกำจัดจุดอ่อนของเรา โดยน้อง ๆ อาจลองทำข้อสอบประเมินทุกวิชาก่อนว่าตัวเองมีจุดอ่อนวิชาไหน หรือหัวข้อไหน แล้วเมื่อเรารู้จุดที่อ่อนแล้ว ก็ไปอ่านทำความเข้าใจหลักพื้นฐานของวิชานั้น ๆ หรือประเด็นนั้น ๆ จากนั้นเมื่อพื้นฐานเราแน่นมากพอแล้ว เราก็สามารถไปตะลุยโจทย์ที่มีระดับความยากขึ้นไปอีกได้

          อาจารย์สมัยม.ปลายของผู้เขียน (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) เคยพูดเอาไว้ว่า การเรียนก็เหมือนการก่อปราสาททราย ถ้าฐานของปราสาททรายไม่แน่น ไม่แข็งแรงมั่นคงพอ ปราสาททรายก็จะพัง ดังนั้นถ้าน้อง ๆ คนไหนรู้สึกว่าทำข้อสอบแล้ว แต่คะแนนไม่เพิ่มขึ้นสักที ก็อาจต้องประเมินจุดที่ตัวเองมักจะผิด หรือจุดที่ตัวเองไม่แม่น แล้วกลับไปทบทวนพื้นฐานอีกรอบหนึ่ง อาจเป็นวิธีที่หลาย ๆ คนคิดว่าเสียเวลา แต่ผลลัพธ์ออกมาดีแน่นอน

          3. เปิดพจนานุกรมเมื่อเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้

          เป็นเคล็ดลับที่เบสิกมาก ๆ แต่คิดว่าคงมีน้อง ๆ หลายคนที่บางครั้งพอเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้เยอะ ๆ เข้าก็ขี้เกียจเปิดพจนานุกรม การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้แล้ว ยังทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้อุดช่องโหว่ในการทำข้อสอบ

          การเปิดพจนานุกรม ไม่ใช่แค่ในวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่วิชาภาษาไทย เมื่อเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าต้องสะกดอย่างไรก็ควรจะเปิด ไม่แน่นะว่าคำศัพท์ที่เราขี้เกียจหาในวันนั้น อาจออกในข้อสอบสำคัญก็ได้ ทั้งนี้ถ้าน้องคนไหนไม่สะดวกเปิดหาพจนานุกรมเป็นเล่ม ๆ ก็สามารถโหลดแอป ฯ พจนานุกรมเอาไว้ติดเครื่องโทรศัพท์ก็ได้ ทั้งสะดวก รวดเร็ว และสามารถค้นหาตอนไหนก็ได้ที่เราต้องการ

          4. ท่องคำศัพท์หรือสูตรเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

          ถ้าใครเคยดูในภาพยนตร์ จะเห็นฉากที่ซายากะขี่จักรยานกลับบ้านแล้ว ท่อง pronounภาษาอังกฤษออกเสียงไปด้วย (เช่น I me my mine you your you yours ฯลฯ) ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มาก ๆ ดังนั้นน้อง ๆ สามารถเอาวิธีนี้มาปรับใช้กับตัวเอง ด้วยการท่องคำศัพท์หรือสูตรต่าง ๆ ที่ต้องการความแม่นยำในขณะที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะอาบน้ำ แปรงฟัน ออกกำลังกาย ทำอาหาร เพราะยิ่งสมองได้เจอคำศัพท์นั้น สูตรนั้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุ้นเคยและชำนาญ เวลาเจอข้อสอบก็จะสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาในการทำข้อสอบ

          5. แปะ post-it ช่วยจำ

          เรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับที่เชื่อมโยงกับเคล็ดลับข้อที่ 3 และ 4 เมื่อเราพบคำศัพท์แล้วเปิดพจนานุกรมเจอคำศัพท์ที่เราไม่รู้แล้ว เราสามารถเอามาเขียนคำนั้นพร้อมคำแปลใน post-it แล้วแปะได้เพื่อที่สมองของเราจะได้เห็นคำศัพท์นั้นซ้ำ ๆ จนเกิดความคุ้นเคย ซึ่งน้อง ๆ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสูตรเลข สูตรฟิสิกส์ต่าง ๆ ก็ได้  นอกจากนี้จากภาพยนตร์เราจะเห็นได้ว่านางเอกของเรา ไม่ได้แค่แปะpost-itที่โต๊ะอ่านหนังสือของตัวเองเท่านั้น แต่ยังแปะที่สถานที่ที่ตัวเองเดินผ่านบ่อย ๆ เช่น กำแพงทางขึ้นลงบันได ตู้เย็น

          6. เรียนประวัติศาสตร์จากการ์ตูนความรู้

          วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ซายากะ นางเอกของเรื่องมีปัญหามากที่สุด แต่อาจารย์ท์ซุโบะตะพูดว่า 「丸暗記しようとするからダメなんだよ。日本史っていうのはな、嫉妬と愛想を渦巻く壮大なメロドラマなんだから、もっと楽しんでストーリーを追わないと」แปลได้ประมาณว่า “พยายามท่องจำไปดื้อ ๆ ทั้งอย่างนั้นน่ะก็ไม่ได้อะไรหรอก ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นน่ะเป็นละครฉากยักษ์ที่มีอารมณ์รักและริษยาพัวพันอยู่ ดังนั้นต้องตามเนื้อเรื่องอย่างสนุกสนานนะ” ซึ่งวิธีที่อาจารย์ท์ซุโบตะเสนอกับซายากะคือการเรียนจากการอ่านการ์ตูนความรู้

          การ์ตูนความรู้จะทำให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนมากกว่าอ่านจากตัวหนังสือ โดยที่ไทยก็มีหนังสือการ์ตูนความรู้นอกจากประวัติศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ให้ได้อ่าน ดังนั้นถ้าน้อง ๆ คนไหนรู้สึกว่าเรียนเรื่องนี้แล้วไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ก็อาจหาหนังสือการ์ตูนมาอ่านให้เข้าใจมากขึ้นก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านจบแล้ว ก็ควรทบทวนเนื้อหากับในหนังสือเรียนอีกรอบ เพราะเนื้อหาในหนังสืออาจยังไม่ลึกพอที่จะเอาไปใช้สอบได้

          7. ติดตามข่าวสารบ่อย ๆ

          การติดตามข่าวสาร เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นในปัจจุบันบ่อย ๆ นอกจากจะช่วยให้น้อง ๆ มีความรู้รอบตัวมากขึ้นแล้ว ยังอาจเป็นประโยชน์ในการทำข้อสอบพาร์ท reading ในข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษด้วย ยกตัวอย่างจากผู้เขียนที่ครั้งหนึ่งอ่านบทความหนึ่งในพาร์ท reading ไม่รู้เรื่อง ซึ่งเหตุผลที่ทำไม่ได้ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้คำศัพท์ แต่เพราะเราไม่เข้าใจเนื้อหาของบทความนั้น ในขณะที่เพื่อนของผู้เขียนทำได้เพราะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการติดตามข่าวสารเป็นเรื่องที่ทำไว้ก็ไม่เสียหาย

          8. คำนึงถึงประเด็นที่ผู้ออกสอบจะออกด้วยการเก็งจากข้อสอบเก่า

          ซายากะเริ่มคำนึงถึงประเด็นที่ผู้ออกสอบจะออกด้วยการคิดว่าประเด็นไหนที่อาจารย์ท์ซุโบตะจะถามก็จะไปเสิร์ชหาคำตอบไว้ก่อนจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจารย์ท์ซุโบตะใช้เลื่อน step ไปอีกขั้น ด้วยการให้ซายากะไปทำข้อสอบเก่า แล้วให้ดูจุดร่วมว่าข้อสอบเก่ามักจะถามคำถามแนวไหน

          การทำข้อสอบเก่านอกจากจะทำให้น้อง ๆ รู้ว่าคำถามมีแนวไหนบ้าง ออกข้อสอบประเด็นไหนบ้าง จะต้องให้ความสำคัญกับหัวข้อไหนเป็นพิเศษแล้ว ยังทำให้น้อง ๆ ได้ฝึกความชำนาญในการทำข้อสอบด้วย นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้น้อง ๆ ลองทำข้อสอบข้อสอบเก่าแล้วจับเวลาให้เหมือนกับว่ากำลังทำข้อสอบจริง ๆ และเมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเคล็ดลับที่ 2 ด้วยการดูว่าข้อไหนผิด แล้วอ่านหรือทำแบบฝึกหัดทบทวนหัวข้อที่เราผิด

          ในเรื่องซายากะได้ลองไปสอบที่สนามจำลองเพื่อประเมินความสามารถของตนเอง ซึ่งที่ประเทศไทย ทางDek-Dก็ได้จัดสนามสอบจำลองPre-Admission ทั้งรอบGAT/PAT และรอบวิชาสามัญ+กสพท ด้วย ดังนั้นน้อง ๆ ที่อยากรู้แนวข้อสอบหรือประเมินความสามารถตัวเองก็ต้องติดตามข่าวและลองสมัครสอบดู

          9. เมื่อท้อให้ลองไปดูบรรยากาศโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้น

          จากช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์ จะเห็นว่าซายากะเกิดความรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง แต่ซายากะก็ปลุกไฟในตัวให้กลับมาอีกครั้งได้ด้วยการไปดูบรรยากาศที่มหาวิทยาลัยเคโอกับแม่ โดยแม่ของเธอพูดขึ้นมาขณะกินข้าวในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยว่า「なんか学生なれたみたいで、楽しい。こんな大学に通えてたら、もっと違う人生だったのにな。だってさ、ここの学生さん達、みんな自信満ちた顔じゃない?さやちゃんもああいうふうに生きてほしいな」แปลว่า “สนุกจัง เหมือนได้เป็นนักศึกษาเลย ถ้าได้เรียนที่มหาวิทยาลัยแบบนี้ก็คงมีชีวิตอีกแบบไปเลยนะ ก็นักศึกษาของที่นี่ดูหน้าตามีความมั่นใจกันทุกคนเลย แม่ก็อยากให้ซายะจังมีชีวิตแบบนั้นจัง”

    การไปลองเที่ยวชม เดินดูบรรยากาศในมหาวิทยาลัยนั้นจะทำให้เราได้จินตนาการชีวิตของตัวเองตอนอยู่ที่นั่นได้ แม้ช่วงนี้อาจไปยากหน่อยด้วยสถานการณ์โควิด แต่น้อง ๆ อาจเข้าร่วมกิจกรรม Open House หรือกิจกรรมแนะแนวต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองอยากไปได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจของน้อง ๆ ได้แล้ว ยังทำให้น้อง ๆ ได้ทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ คณะนั้น ๆ และได้คิดทบทวนว่าเราอยากเรียนที่นั่นจริง ๆ หรือเปล่า

          10. ใช้ตัวช่วยอ่านหนังสือด้วยแผ่นพลาสติกสี

          แผ่นพลาสติกสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน เป็นตัวช่วยยอดฮิตของนักเรียนญี่ปุ่นในการใช้สอบ โดยซายากะก็ได้นำมาใช้ในช่วงก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคโอ 2 เดือน วิธีใช้ก็ง่าย ๆ เลยคือก่อนอื่นน้อง ๆ จะต้องเขียนสิ่งที่สำคัญหรือคำตอบต่าง ๆ เป็นสีนั้น ๆ แล้วเมื่อนำแผ่นพลาสติกสีนั้นทับลงไป คำคำนั้นก็จะมองไม่เห็น จึงเหมาะกับการเอาไว้ใช้ทบทวนความจำ

          11. รักษาสุขภาพ

          สุดท้ายแล้วผู้เขียนอยากให้น้อง ๆ คุณผู้อ่านรักษาสุขภาพมาก ๆ จากในเรื่อง ตอนสอบซายากะท้องเสียทำให้ต้องเสียเวลาสอบเพื่อไปเข้าห้องน้ำ ดังนั้นก่อนสอบอย่างน้อย 3 วัน ควรจะรักษาสุขภาพมาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ กินผักผลไม้และอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าเครียดจนเกินไป


          ท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนหวังว่าน้อง ๆ จะนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเอง และผู้เขียนเชื่อว่าถ้าน้อง ๆ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ฝันของน้อง ๆ ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน  เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ