เพื่อน ๆ เคยรู้สึกกดดันเมื่อเห็นเพื่อนรอบตัวประสบความสำเร็จกันไหมคะ?
เช่น เพื่อนบางคนขยันมาก หรือสอบติดตั้งแต่รอบแรก ในขณะที่เรายังคงพยายามตั้งใจทำตามเป้าหมายของตัวเองอยู่ การเห็นความสำเร็จของคนอื่นอาจทำให้เกิดแรงกดดันในตัวเองได้
แรงกดดันจากคนรอบข้าง (Peer Pressure) คืออะไร
คือ การได้รับอิทธิพลจากทางตรง หรือทางอ้อมมาจากคนรอบข้าง เช่น เพื่อน คนใกล้ตัว จะทำให้บุคคลนั้นเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ ความคิด และค่านิยม เพื่อให้เข้ากับคนในกลุ่มได้ ให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมรอบตัว
ดร.อาคีม มาร์ช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าวว่า
“มันง่ายมากที่จะได้รับอิทธิพลจากแรงกดดันจากเพื่อน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน”
วัยรุ่นมีโอกาสที่จะได้รับแรงกดดันจากเพื่อนสูง เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเอง บางครั้งอาจทำให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ขัดกับความต้องการของตัวเอง เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
มี 3 ลักษณะที่ทำให้เกิดแรงกดดันจากคนรอบข้าง
- แรงกดดันจากคนรอบข้างโดยตรง เกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนสั่งให้เราทำสิ่งต่าง ๆ เช่น คำพูด ความคาดหวังจากพ่อแม่ หรือคนรอบข้าง
- แรงกดดันทางอ้อม เกิดจากการที่เราเห็นพฤติกรรมของคนรอบข้าง เช่น เพื่อนหรือคนในสังคม ทำอะไรบางอย่างจนทำให้รู้สึกเหมือนต้องทำตาม แม้ว่าจะไม่มีใครมาบอกหรือบังคับก็ตาม
- แรงกดดันที่เกิดจากตัวเอง จะเกิดขึ้นเมื่อเรากดดันตัวเองให้ทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่จะสามารถเข้ากับกลุ่มคนรอบตัวได้
แม้ว่า Peer Pressure มักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ความจริงแล้วแรงกดดันนี้สามารถส่งผลได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับวิธีการรับมือของแต่ละคน มาดูกันว่ามีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง และมีวิธีการจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไรบ้าง
ข้อดี
สร้างแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
เมื่อเราเห็นว่าเพื่อนหรือคนรอบข้างประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้คะแนนดี อาจเป็นแรงกระตุ้นทำให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองและพยายามมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การเห็นแบบอย่างที่ดีจากคนรอบข้างจะช่วยผลักดันตัวเองให้ตั้งใจและมุ่งมั่นมากขึ้น ที่สำคัญยังทำให้เรามีความเชื่อมั่นในตัวเอง หากคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้เช่นเดียวกัน
กระตุ้นให้พัฒนาตัวเอง
แรงกดดันจากเพื่อนหรือคนรอบข้างสามารถเปลี่ยนเป็นแรงจูงใจได้ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นที่จะพัฒนาให้ตัวเองดีขึ้น แรงกดดันทำให้เรารู้สึกท้าทายและพร้อมจะเรียนรู้ทำในสิ่งต่าง ๆ
ทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ดี
การอยู่ในสังคมกลุ่มเพื่อนหรือคนรอบข้าง เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ทั้งดีและไม่ดี เลือกโฟกัสในด้านดี ๆ และนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้ เช่น เพื่อนขยันทำงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์เสมอ เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วย การเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีจากคนรอบข้างช่วยให้เราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ช่วยสร้างวินัยและความรับผิดชอบ
หากคนรอบข้างมีวินัยและประพฤติตัวในด้านบวก เช่น การออกกำลังกาย ทบทวนบทเรียน แรงกดดันนี้สามารถทำให้เราค่อย ๆ ซึมซับและปรับตัวตาม ให้มีวินัย และมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะได้รับแรงกระตุ้นและได้เห็นแบบอย่างที่ดี
ข้อเสีย
- ทำให้สูญเสียตัวตน
แรงกดดันจากคนรอบข้างทำให้เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง แทนที่จะให้ความสำคัญกับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง แม้ว่าความรู้สึกที่ถูกยอมรับจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ความรู้สึกนี้กลับไม่ยั่งยืน และอาจทำให้เราขาดความเป็นตัวของตัวเอง หรืออาจสูญเสียตับางครั้งได้
- ทำให้สูญเสียความมั่นใจ
แม้ว่าแรงกดดันจากคนรอบข้างจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เราดีขึ้นได้ แต่ในบางครั้งอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้เช่นกัน การเปรียบเทียบกับคนอื่นทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีพอและอับอาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
- เกิดอารมณ์ที่ไม่ดี
ความรู้สึกนี้สงผลต่ออารมณ์และจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน เมื่อรู้สึกกดดันและจิตใจไม่มั่นคง เมื่อคล้อยตามแรงกดดันอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลและขาดความมั่นใจ หากไม่หาวิธีจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดเป็นความเครียดได้
- ทำให้เปลี่ยนเปลี่ยนเป้าหมายที่วางไว้
แรงกดดันจากคนรอบข้าง อาจทำให้เราสูญเสียความมั่นใจในเป้าหมาย ความต้องการของตัวเอง และทำให้เกิดแรงจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ หรือเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้
วิธีการรับมือ
- คุยกับตัวเอง ยืนหยัดในคุณค่า
การคุยกับตัวเองเพื่อทบทวนความคิดและความรู้สึกจะช่วยให้เรารับรู้ถึงอารมณ์ของตัวเองได้ เพื่อจะหาวิธีการรับมือ การฝืนทำตามสังคมหรือคนอื่นมากเกินไป ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ควรให้ความสำคัญกับตัวเอง ตระหนักในคุณค่าและความต้องการของตัวเอง
- เชื่อมั่นในตัวเอง
การมีความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำให้เรายืนหยัดในความต้องการและเป้าหมายของตัวเอง แม้จะได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างก็ตาม
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดแรงกดดัน
หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สร้างความกดดันแรงกดดันจนรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น
- เลือกเพื่อนหรือสังคมที่สนับสนุน
การเลือกอยู่ในกลุ่มที่มีแนวคิด ทัศนคติในแง่บวก เข้าใจในความแตกต่างและช่วยกันสนับสนุน อยู่กับคนที่ทำให้เราสบายใจและเป็นตัวเอง ไม่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
- ผ่อนคลายความเครียด
เมื่อรู้สึกกังวลหรือได้รับแรงกดดัน การระบายความรู้สึกออกมาเป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ ลองหากิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ร้องเพลง หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
- คุยกับคนที่ไว้ใจ
พูดคุยปรึกษากับคนที่เชื่อใจ เช่น ครอบครัว เพื่อน ช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอาจช่วยให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในการรับมือ หรือจะลองเขียนลงในสมุดโน้ต ช่วยทำให้เราลดความกังวลได้เช่นกัน
นอกจากวัยรุ่นแล้วผู้ใหญ่ก็สามารถได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างได้ เช่น แรงกดดันจากเพื่อนร่วมงาน
แรงกดดันจากคนรอบข้าง (Peer Pressure) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมได้ ดังนั้นการหมั่นทบทวนตัวเองบ่อย ๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และรับมือกับปัญหานี้ได้
ความสุขที่แท้จริงอาจเกิดจากการยอมรับและให้ความสำคัญกับตัวเอง และไม่จำเป็นต้องฝืนเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนอื่นยอมรับเสมอ
stay confident and be yourself
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.verywellmind.com/what-is-peer-pressure-22246
https://www.youngminds.org.uk/young-person/blog/tips-for-coping-with-peer-pressure/