สวัสดีน้องๆ ทุกคน หลายคนคงเริ่มปิดเทอมกันแล้วใช่มั้ย? วันนี้พี่ Tutor VIP จะมาแนะนำคณะแพทยศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด คณะสายวิทย์สุขภาพที่หลายคนใฝ่ฝัน ให้น้องๆ ได้รู้จักคณะในฝันได้ดียิ่งขึ้นและเตรียมตัวได้ตรงจุดกัน
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
- คณะแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์, กายภาพบำบัดเรียนอะไรบ้าง?
- มีสาขาอะไรบ้าง?
- จบไปทำงานอะไร?
- ใช้คะแนนอะไรบ้าง?
- ที่ไหนเปิดสอนบ้าง?
คณะแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์, กายภาพบำบัด เรียนอะไรบ้าง?
คณะแพทยศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-6 ดังนี้
- ปี 1 จะเรียนเน้นปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น สถิติศาสตร์สำหรับการแพทย์, วิชาชีพแพทย์, ฟิสิกส์สำหรับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น
- ปี 2 จะเรียนเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ชีวิตมนุษย์, ระบบไหลเวียน, ระบบหายใจ, ระบบสืบพันธ์ุ เป็นต้น
- ปี 3 จะเรียนเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย เช่น หลักพันธุศาสตร์และเนื้องอก, เวชศาสตร์ป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ, อาการวิทยา เป็นต้น
- ปี 4 จะเรียนเนื้อหาเชิงปฏิบัติ และเริ่มเข้าวอร์ดไปฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาล วิชาที่เรียน เช่น ทักษะพื้นฐานทางคลินิก, ศัลยศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ เป็นต้น
- ปี 5 จะเรียนคล้ายกับปี 4 คือฝึกปฏิบัติจริงในวอร์ดต่างๆ ของโรงพยาบาล วิชาที่เรียน เช่น นิติเวชศาสตร์, สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, เวชศาสตร์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุ เป็นต้น
- ปี 6 หรือที่เรียกว่า Extern จะเป็นปีที่ได้ปฏิบัติจริงเหมือนเป็นแพทย์เต็มตัวแล้ว วิชาที่เรียน เช่น เวชบำบัดวิกฤต, ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์, อายุรศาสตร์ เป็นต้น
ในส่วนของ คณะพยาบาลศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-4 ดังนี้
- ปี 1 จะเรียนวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานของคณะ เช่น สุขภาพเพื่อชีวิต, ชีววิทยาขั้นแนะนำ, เคมีอินทรีย์พื้นฐาน เป็นต้น
- ปี 2 จะเน้นเรียนเนื้อหาพื้นฐานของคณะ เช่น ทักษะพื้นฐานการพยาบาล, สรีรวิทยาพื้นฐาน, กระบวนการพยาบาลและการประเมินภาวะสุขภาพ เป็นต้น
- ปี 3 จะเรียนลงลึก และมีวิชาเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น, การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ, การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นต้น
- ปี 4 จะได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงพยาบาล เนื้อหาที่เรียน เช่น การรักษาพยาบาลขั้นต้น, ปฏิบัติการรักษาพยาบาลขั้นต้น, ปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเตรียมเข้าสู่วิชาชีพ เป็นต้น
สำหรับ คณะกายภาพบำบัด จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปีเช่นกัน มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-4 ดังนี้
- ปี 1 จะเรียนวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานของคณะ เช่น จิตวิทยาทั่วไป, กายวิภาคศาสตร์และชีวกลศาสตร์, เทคนิคการเคลื่อนย้ายและการเคลื่อนที่ เป็นต้น
- ปี 2 จะเน้นเรียนเนื้อหาพื้นฐานของคณะ เช่น สรีรวิทยาการออกกำลังกาย, การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย, กายภาพบำบัดในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- ปี 3 จะเรียนลงลึก และมีวิชาเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น อวัยวะเทียม กายอุปกรณ์ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก, กายภาพบำบัดในเด็ก, การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก เป็นต้น
- ปี 4 จะได้ฝึกปฏิบัติจริง เนื้อหาที่เรียน เช่น กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ, กายภาพบำบัดทางกีฬา, การส่งเสริมสุขภาพ การยศาสตร์ และกายภาพบำบัดในชุมชน เป็นต้น
มีสาขาอะไรบ้าง?
คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีโดยทั่วไปจะเรียนเนื้อหาพื้นฐานของแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ทั้งหมด หากต้องการเป็นแพทย์หรือพยาบาลเฉพาะทางสามารถเลือกศึกษาในสาขาเฉพาะทางที่สนใจได้หลังจากที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว
โดยคณะแพทยศาสตร์มีสาขาเฉพาะทาง ดังนี้
- สาขากุมารเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การคัดกรองและรักษาทารกแรกเกิด และผู้ป่วยเด็ก รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและแนะนำปัญหาที่พบบ่อยทางกุมารเวชศาสตร์ เป็นต้น
- สาขากายวิภาคศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การศึกษาลักษณะโครงสร้างของร่างกายที่อยู่ลึกเข้าไป เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท และหลอดเลือดต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
- สาขาจุลชีววิทยา เรียนเกี่ยวกับ นิเวศวิทยา พาหะแพร่เชื้อ รูปร่างลักษณะ คุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการก่อโรคของแบคทีเรีย ไวรัส รา และปรสิตที่มีความสำคัญต่อการแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อ และทดสอบยาต้านเชื้อ เป็นต้น
- สาขาจิตเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การตรวจสอบ, วินิจฉัย, การทดสอบทางจิตวิทยาอย่างเหมาะสม, การวางแผนและให้การรักษาผู้ที่มีปัญหาหรือภาวะทางจิตเวช เป็นต้น
- สาขาจักษุวิทยา เรียนเกี่ยวกับ อาการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา โรคที่เกิดขึ้นในดวงตา รวมไปถึงวิธีการรักษาโรคตา เป็นต้น
- สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การวินิจฉัยแยกโรค การดูแลรักษาภาวะฉุกเฉิน การกู้ชีพและการทำหัตถการฉุกเฉิน เป็นต้น
- สาขาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรค การทำหัตถการกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหู จมูก คอ เป็นต้น
- สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เรียนเกี่ยวกับ การดูแลในระยะก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด รวมไปถึงการคุมกำเนิด และการดูแลรักษาทางมะเร็งนรีเวชวิทยา เป็นต้น
- สาขานิติเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การชันสูตรพลิกศพ แง่มุมทางนิติเวชศาสตร์เกี่ยวกับการบาดเจ็บ การตายธรรมชาติอย่างกระทันหันที่พบบ่อย รวมไปถึงการเขียนหนังสือรับรองการเสียชีวิต เป็นต้น
- สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัย และการทำหัตถการในโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ เป็นต้น
- สาขารังสีวิทยา เรียนเกี่ยวกับ หลักการสร้างภาพวินิจฉัย การจัดท่าเพื่อตรวจภาพวินิจฉัย หลักการของรังสีรักษา การป้องกันอันตรายจากรังสี การฉายรังสีเพื่อรักษา เป็นต้น
- สาขาวิสัญญีวิทยา เรียนเกี่ยวกับ การเตรียมและการดูแลผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังการผ่าตัด การเฝ้าระวัง และการเลือกใช้ยาระงับความรู้สึก เป็นต้น
- สาขาศัลยศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การใช้เครื่องมือผ่าตัดเพื่อสืบค้นความผิดปกติ และรักษา รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด เป็นต้น
- สาขาอายุรศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอายุรศาสตร์ และการสั่งยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ในส่วนคณะพยาบาลศาสตร์ มีสาขาเฉพาะทาง ดังนี้
- สาขาการพยาบาลเด็ก เรียนเกี่ยวกับ หลักการพยาบาลเด็กและครอบครัวแบบองค์รวม ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เป็นต้น
- สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เรียนเกี่ยวกับ หลักการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทางอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ การจัดการปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นต้น
- สาขาการผดุงครรภ์ เรียนเกี่ยวกับ การพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ การช่วยวางแผนครอบครัว การวางแผนตั้งครรภ์ และการสร้างเสริมสัมพันธภาพมารดา-ทารกและครอบครัว เป็นต้น
- สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เรียนเกี่ยวกับ การส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิต การพยาบาลแก่ผู้ที่มีการเจ็บป่วยทางจิต เป็นต้น
- สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน เรียนเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพ การจัดการปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของบุคคล ครอบครัว และชุมชน การให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพในชุมชน เป็นต้น
สำหรับ คณะกายภาพบำบัด ในระดับปริญญาตรีมีสาขาวิชา ดังนี้
- สาขากายภาพบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การนำผลการตรวจมาวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องโดยใช้หลักกายภาพบำบัด การให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพบำบัดโดยใช้การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย เป็นต้น
- สาขากิจกรรมบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การประเมินทางกิจกรรมบำบัด และการใช้เครื่องมือเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
ทั้งนี้สาขาวิชาที่มีอาจแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย หากน้อง ๆ ต้องการทราบข้อมูลของสถาบันที่ต้องการ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บของสถาบันนั้น ๆ ได้เลย
จบไปทำงานอะไร?
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ อาทิ
- แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
- แพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์, จิตแพทย์, วิสัญญีแพทย์ เป็นต้น
- อาจารย์แพทย์
- นักวิจัยทางการแพทย์
- ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์
- เจ้าของคลินิก
เป็นต้น
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ อาทิ
- พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
- พยาบาลเฉพาะทาง เช่น พยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น, พยาบาลฟื้นฟูสภาพ เป็นต้น
- นักวิชาการสาธารณสุข
- อาจารย์พยาบาล
- พยาบาล Freelance
- พยาบาลบริษัทประกันภัย
- แอร์โฮสเตส
เป็นต้น
ในส่วนของคณะกายภาพบำบัด เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอาชีพได้หลากหลาย อาทิ
- นักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
- นักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานด้านกีฬา
- นักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานในชุมชน
- ผู้ประกอบการคลินิกภาพบำบัด
- นักกิจกรรมบำบัด
- นักวิชาการในหน่วยงานรัฐ และท้องถิ่น
เป็นต้น
ใช้คะแนนอะไรบ้าง?
สำหรับ Dek66 ในรอบกสพท. คะแนนที่ต้องใช้ในการเข้าคณะแพทยศาสตร์ จะมี ดังนี้
- TPAT1 ความถนัดแพทย์ (กสพท)
- A-Level คณิต1(ประยุกต์), ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ
ในส่วนของคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด ในรอบ 3 Admission คะแนนที่ใช้จะมี ดังนี้
- TGAT
- A-Level คณิต1(ประยุกต์), ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, และภาษาอังกฤษ
ในบางมหาวิทยาลัยอาจจำเป็นต้องใช้คะแนนวิชาอื่น ๆ ด้วย ดูเกณฑ์ของสาขา และม.ที่ต้องการก่อนสมัครสอบเพิ่มเติมได้ ที่นี่ สามารถค้นหาเกณฑ์ของคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้เลย
ที่ไหนเปิดสอนบ้าง?
ปัจจุบันมีสถาบันทั้งรัฐ และเอกชนทั่วประเทศเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ เช่น
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก
ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ เพิ่มเติมได้ที่ คลิก
รายชื่อสถาบันที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ เช่น
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ
ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ เพิ่มเติมได้ที่ คลิก
คณะกายภาพบำบัด บางสถาบันมีสถานะเป็นภาควิชาในสังกัดคณะสหเวชศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มีสถาบันที่เปิดสอน เช่น
- คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
- คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
- คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะกายภาพบำบัด เพิ่มเติมได้ที่ คลิก
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่สนใจคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และกายภาพบำบัดนะ ใครกำลังวางแผนพิชิตคณะในฝันอยู่ก็ขอส่งกำลังใจให้นะครับ ส่วนใครกำลังหาที่ติวก็มาปรึกษาพี่ Tutor VIP ได้นะครับ:)
บทความต่อไป Tutor VIP จะมาแนะนำคณะอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
สนใจเรียนพิเศษตัวต่อตัว ติวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ และ กายภาพบำบัด ติดต่อได้ที่👇
📞โทร: 081-0541080📱Line ID: @tutorvip หรือคลิ๊ก https://lin.ee/UQ3gQwP
ดูอัตราค่าเรียนพิเศษได้ที่ : https://tutor-vip.com/course/learning-price/