รู้ก่อนได้เปรียบ! เตรียมสอบ แพทย์ พยาบาล กายภาพบำบัด

  สวัสดีน้องๆ ทุกคน หลายคนคงเริ่มปิดเทอมกันแล้วใช่มั้ย? วันนี้พี่ Tutor VIP จะมาแนะนำคณะแพทยศาสตร์คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด คณะสายวิทย์สุขภาพที่หลายคนใฝ่ฝัน ให้น้องๆ ได้รู้จักคณะในฝันได้ดียิ่งขึ้นและเตรียมตัวได้ตรงจุดกัน

เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ

คณะแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์, กายภาพบำบัด เรียนอะไรบ้าง?

  คณะแพทยศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-6 ดังนี้

  • ปี 1 จะเรียนเน้นปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น สถิติศาสตร์สำหรับการแพทย์, วิชาชีพแพทย์, ฟิสิกส์สำหรับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น 
  • ปี 2 จะเรียนเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ชีวิตมนุษย์, ระบบไหลเวียน, ระบบหายใจ, ระบบสืบพันธ์ุ เป็นต้น
  • ปี 3 จะเรียนเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย เช่น หลักพันธุศาสตร์และเนื้องอก, เวชศาสตร์ป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ, อาการวิทยา เป็นต้น
  • ปี 4 จะเรียนเนื้อหาเชิงปฏิบัติ และเริ่มเข้าวอร์ดไปฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาล วิชาที่เรียน เช่น ทักษะพื้นฐานทางคลินิก, ศัลยศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ เป็นต้น 
  • ปี 5 จะเรียนคล้ายกับปี 4 คือฝึกปฏิบัติจริงในวอร์ดต่างๆ ของโรงพยาบาล วิชาที่เรียน เช่น นิติเวชศาสตร์, สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, เวชศาสตร์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุ เป็นต้น
  • ปี 6 หรือที่เรียกว่า Extern จะเป็นปีที่ได้ปฏิบัติจริงเหมือนเป็นแพทย์เต็มตัวแล้ว วิชาที่เรียน เช่น เวชบำบัดวิกฤต, ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์, อายุรศาสตร์ เป็นต้น

  ในส่วนของ คณะพยาบาลศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-4 ดังนี้

  • ปี 1 จะเรียนวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานของคณะ เช่น สุขภาพเพื่อชีวิต, ชีววิทยาขั้นแนะนำ, เคมีอินทรีย์พื้นฐาน เป็นต้น 
  • ปี 2 จะเน้นเรียนเนื้อหาพื้นฐานของคณะ เช่น ทักษะพื้นฐานการพยาบาล, สรีรวิทยาพื้นฐาน, กระบวนการพยาบาลและการประเมินภาวะสุขภาพ เป็นต้น
  • ปี 3 จะเรียนลงลึก และมีวิชาเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น, การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ, การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นต้น
  • ปี 4 จะได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงพยาบาล เนื้อหาที่เรียน เช่น การรักษาพยาบาลขั้นต้น, ปฏิบัติการรักษาพยาบาลขั้นต้น, ปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเตรียมเข้าสู่วิชาชีพ เป็นต้น

  สำหรับ คณะกายภาพบำบัด จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปีเช่นกัน มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-4 ดังนี้

  • ปี 1 จะเรียนวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานของคณะ เช่น จิตวิทยาทั่วไป, กายวิภาคศาสตร์และชีวกลศาสตร์, เทคนิคการเคลื่อนย้ายและการเคลื่อนที่ เป็นต้น 
  • ปี 2 จะเน้นเรียนเนื้อหาพื้นฐานของคณะ เช่น สรีรวิทยาการออกกำลังกาย, การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย, กายภาพบำบัดในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • ปี 3 จะเรียนลงลึก และมีวิชาเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น อวัยวะเทียม กายอุปกรณ์ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก, กายภาพบำบัดในเด็ก, การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก เป็นต้น
  • ปี 4 จะได้ฝึกปฏิบัติจริง เนื้อหาที่เรียน เช่น กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ, กายภาพบำบัดทางกีฬา, การส่งเสริมสุขภาพ การยศาสตร์ และกายภาพบำบัดในชุมชน เป็นต้น

มีสาขาอะไรบ้าง?

  คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีโดยทั่วไปจะเรียนเนื้อหาพื้นฐานของแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ทั้งหมด หากต้องการเป็นแพทย์หรือพยาบาลเฉพาะทางสามารถเลือกศึกษาในสาขาเฉพาะทางที่สนใจได้หลังจากที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว

     โดยคณะแพทยศาสตร์มีสาขาเฉพาะทาง ดังนี้

  1. สาขากุมารเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การคัดกรองและรักษาทารกแรกเกิด และผู้ป่วยเด็ก รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและแนะนำปัญหาที่พบบ่อยทางกุมารเวชศาสตร์  เป็นต้น
  2. สาขากายวิภาคศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การศึกษาลักษณะโครงสร้างของร่างกายที่อยู่ลึกเข้าไป เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท และหลอดเลือดต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
  3. สาขาจุลชีววิทยา เรียนเกี่ยวกับ นิเวศวิทยา พาหะแพร่เชื้อ รูปร่างลักษณะ คุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการก่อโรคของแบคทีเรีย ไวรัส รา และปรสิตที่มีความสำคัญต่อการแพทย์  เพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อ และทดสอบยาต้านเชื้อ เป็นต้น
  4. สาขาจิตเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การตรวจสอบ, วินิจฉัย, การทดสอบทางจิตวิทยาอย่างเหมาะสม, การวางแผนและให้การรักษาผู้ที่มีปัญหาหรือภาวะทางจิตเวช เป็นต้น
  5. สาขาจักษุวิทยา เรียนเกี่ยวกับ อาการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา โรคที่เกิดขึ้นในดวงตา รวมไปถึงวิธีการรักษาโรคตา เป็นต้น
  6. สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การวินิจฉัยแยกโรค การดูแลรักษาภาวะฉุกเฉิน การกู้ชีพและการทำหัตถการฉุกเฉิน เป็นต้น
  7. สาขาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรค การทำหัตถการกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหู จมูก คอ เป็นต้น
  8. สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เรียนเกี่ยวกับ การดูแลในระยะก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด รวมไปถึงการคุมกำเนิด และการดูแลรักษาทางมะเร็งนรีเวชวิทยา เป็นต้น
  9. สาขานิติเวชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การชันสูตรพลิกศพ แง่มุมทางนิติเวชศาสตร์เกี่ยวกับการบาดเจ็บ การตายธรรมชาติอย่างกระทันหันที่พบบ่อย รวมไปถึงการเขียนหนังสือรับรองการเสียชีวิต เป็นต้น
  10. สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัย และการทำหัตถการในโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ เป็นต้น
  11. สาขารังสีวิทยา เรียนเกี่ยวกับ หลักการสร้างภาพวินิจฉัย การจัดท่าเพื่อตรวจภาพวินิจฉัย หลักการของรังสีรักษา การป้องกันอันตรายจากรังสี การฉายรังสีเพื่อรักษา เป็นต้น
  12. สาขาวิสัญญีวิทยา เรียนเกี่ยวกับ การเตรียมและการดูแลผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังการผ่าตัด การเฝ้าระวัง และการเลือกใช้ยาระงับความรู้สึก  เป็นต้น
  13. สาขาศัลยศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การใช้เครื่องมือผ่าตัดเพื่อสืบค้นความผิดปกติ และรักษา รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด เป็นต้น
  14. สาขาอายุรศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอายุรศาสตร์ และการสั่งยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น

      ในส่วนคณะพยาบาลศาสตร์ มีสาขาเฉพาะทาง ดังนี้ 

  1. สาขาการพยาบาลเด็ก เรียนเกี่ยวกับ หลักการพยาบาลเด็กและครอบครัวแบบองค์รวม ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เป็นต้น
  2. สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เรียนเกี่ยวกับ หลักการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทางอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ การจัดการปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นต้น
  3. สาขาการผดุงครรภ์ เรียนเกี่ยวกับ การพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ การช่วยวางแผนครอบครัว การวางแผนตั้งครรภ์ และการสร้างเสริมสัมพันธภาพมารดา-ทารกและครอบครัว เป็นต้น
  4. สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เรียนเกี่ยวกับ การส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิต การพยาบาลแก่ผู้ที่มีการเจ็บป่วยทางจิต  เป็นต้น
  5. สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน เรียนเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพ การจัดการปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของบุคคล ครอบครัว และชุมชน การให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพในชุมชน เป็นต้น

  สำหรับ คณะกายภาพบำบัด ในระดับปริญญาตรีมีสาขาวิชา ดังนี้ 

  1. สาขากายภาพบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การซักประวัติ การนำผลการตรวจมาวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องโดยใช้หลักกายภาพบำบัด การให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพบำบัดโดยใช้การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย เป็นต้น
  2. สาขากิจกรรมบำบัด เรียนเกี่ยวกับ การประเมินทางกิจกรรมบำบัด และการใช้เครื่องมือเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น

  ทั้งนี้สาขาวิชาที่มีอาจแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย หากน้อง ๆ ต้องการทราบข้อมูลของสถาบันที่ต้องการ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บของสถาบันนั้น ๆ ได้เลย

จบไปทำงานอะไร?

  อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ อาทิ

  • แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
  • แพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์, จิตแพทย์, วิสัญญีแพทย์ เป็นต้น
  • อาจารย์แพทย์
  • นักวิจัยทางการแพทย์
  • ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์
  • เจ้าของคลินิก

เป็นต้น

  อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ อาทิ

  • พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
  • พยาบาลเฉพาะทาง เช่น พยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น, พยาบาลฟื้นฟูสภาพ เป็นต้น
  • นักวิชาการสาธารณสุข
  • อาจารย์พยาบาล
  • พยาบาล Freelance
  • พยาบาลบริษัทประกันภัย
  • แอร์โฮสเตส

เป็นต้น

  ในส่วนของคณะกายภาพบำบัด เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอาชีพได้หลากหลาย อาทิ

  • นักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน
  • นักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานด้านกีฬา
  • นักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานในชุมชน
  • ผู้ประกอบการคลินิกภาพบำบัด
  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักวิชาการในหน่วยงานรัฐ และท้องถิ่น

เป็นต้น

ใช้คะแนนอะไรบ้าง?

  สำหรับ Dek66 ในรอบกสพท. คะแนนที่ต้องใช้ในการเข้าคณะแพทยศาสตร์ จะมี ดังนี้

  • TPAT1 ความถนัดแพทย์ (กสพท)
  • A-Level คณิต1(ประยุกต์), ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ

  ในส่วนของคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด ในรอบ 3 Admission คะแนนที่ใช้จะมี ดังนี้

  • TGAT 
  • A-Level คณิต1(ประยุกต์), ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, และภาษาอังกฤษ

      ในบางมหาวิทยาลัยอาจจำเป็นต้องใช้คะแนนวิชาอื่น ๆ ด้วย ดูเกณฑ์ของสาขา และม.ที่ต้องการก่อนสมัครสอบเพิ่มเติมได้ ที่นี่ สามารถค้นหาเกณฑ์ของคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้เลย

ที่ไหนเปิดสอนบ้าง?

  ปัจจุบันมีสถาบันทั้งรัฐ และเอกชนทั่วประเทศเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ เช่น

  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยรังสิต
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า  กรมแพทย์ทหารบก

ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ เพิ่มเติมได้ที่ คลิก

  รายชื่อสถาบันที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ เช่น

  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะพยาบาลศาสตร์     มหาวิทยาลัยพะเยา
  • วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ 

ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ เพิ่มเติมได้ที่ คลิก

  คณะกายภาพบำบัด บางสถาบันมีสถานะเป็นภาควิชาในสังกัดคณะสหเวชศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มีสถาบันที่เปิดสอน เช่น

  • คณะกายภาพบำบัด      มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะกายภาพบำบัด      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะกายภาพบำบัด      มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • คณะกายภาพบำบัด      มหาวิทยาลัยรังสิต
  • คณะกายภาพบำบัด      วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด    มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด    มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะกายภาพบำบัด เพิ่มเติมได้ที่ คลิก

      หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่สนใจคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และกายภาพบำบัดนะ ใครกำลังวางแผนพิชิตคณะในฝันอยู่ก็ขอส่งกำลังใจให้นะครับ ส่วนใครกำลังหาที่ติวก็มาปรึกษาพี่ Tutor VIP ได้นะครับ:)

บทความต่อไป Tutor VIP จะมาแนะนำคณะอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ

สนใจเรียนพิเศษตัวต่อตัว ติวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ และ กายภาพบำบัด ติดต่อได้ที่👇

📞โทร: 081-0541080📱Line ID: @tutorvip หรือคลิ๊ก https://lin.ee/UQ3gQwP 

ดูอัตราค่าเรียนพิเศษได้ที่ : https://tutor-vip.com/course/learning-price/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *