เทคนิคใช้สียังไงให้คะแนนสอบออกมาเริ่ด

               สวัสดีค่า ตอนนี้ช่วงสอบปลายภาคก็ใกล้เข้ามาแล้ว ผู้เขียนจำได้ว่าสมัยตัวเองเรียนอยู่มัธยม พอใกล้วันสอบปลายภาคแล้วก็จะรู้สึกเครียด ลนจนไม่มีสมาธิ เพราะรู้สึกว่าวันสอบปลายภาคเหมือนวันตัดสินชี้เป็นชี้ตาย รู้ตัวอีกทีก็อ่านหนังสือไม่ทัน ต้องยัดเนื้อหาเข้าสมอง 1 คืนก่อนสอบรัว ๆ เลย ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนก็คิดว่าถ้ามีตัวช่วยอ่านหนังสือก็คงดี

          ผู้เขียนเชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนก็คงคิดเหมือนกัน วันนี้เลยอยากมาแนะนำตัวช่วยอ่านหนังสือสอบ นั่นก็คือเทคนิคการใช้จิตวิทยาสีในการอ่านหนังสือนั่นเอง!

          อะไรคือ Brain-Based Learning?

          ก่อนอื่นผู้เขียนขอแนะนำการจัดการการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brain-based Learning (BBL) ก่อน โดยแนวคิดนี้เป็นการนำความรู้ในเรื่องระบบการทำงานของสมอง มาใช้ในการออกแบบพัฒนาจัดการการเรียนรู้ของมนุษย์ และแนวคิดดังกล่าวได้มีการผูกโยงกับหลักการแนวคิดหลักการด้านจิตวิทยาสี (Psycology of color) เนื่องจากสีเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกและส่งผลต่อสภาพจิตใจของมนุษย์

          วรรณะสีกับความรู้สึก

          สีสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 วรรณะ ได้แก่

          สีวรรณะร้อน (Warm Tone)

          เมื่อพูดถึงสีวรรณะร้อน ดูตามชื่อเลยก็คือสีที่ทำให้นึกถึงไฟหรือความร้อน มีอิมเมจที่ให้ความรู้สึกสว่างไสว ร้อนแรง นอกจากนี้ยังเป็นสีที่กระตุ้นให้มนุษย์เกิดความรู้สึกกระฉับกระเฉง ตื่นเต้น รุนแรง ตัวอย่างสีที่อยู่ในวรรณะร้อน เช่น สีเหลือง สีส้มเหลือง สีส้ม สีส้มแดง สีแดง สีม่วงแดง

          สีวรรณณะเย็น (Cool Tone)

          สีวรรณะเย็นก็คือสีที่ทำให้นึกถึงความหนาวเย็น มีอิมเมจที่ให้ความรู้สึกเยือกเย็น สงบ  เป็นสีที่กระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกสงบเงียบ อ่อนโยน สบายลดความตึงเครียด ไปจนถึงรู้สึกเศร้าสลด หม่นหมอง ตัวอย่างสีที่อยู่ในวรรณะเย็น เช่น สีเขียว สีเขียวน้ำเงิน สีน้ำเงิน สีน้ำเงินม่วง

          ทั้งนี้ก็ยังมีสีพิเศษหลายสีที่อยู่ทั้งวรรณะร้อนและวรรณะเย็น เช่น สีเหลือง สีม่วง

          สีแบบไหนที่จะช่วยให้มนุษย์เรียนรู้ได้ดี?

          เกริ่นก่อนว่าการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นพื้นฐานนั้น ความรู้สึกที่ตื่นตัวแบบผ่อนคลาย ไม่กดดัน แต่มีความท้าทาย ชวนให้จดจ่อและค้นหาคำตอบนั้นจะทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ดี ดังนั้นสีที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถมีสมาธิได้นั้นจะต้องเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลาย

          สีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสมาธิมากที่สุดคือ สีน้ำเงิน เนื่องจากสีน้ำเงินเป็นสีที่อยู่ในวรรณะเย็น และอยู่ในโทนเข้ม (ในทางจิตวิทยา สีโทนเข้มจะช่วยเพิ่มความจำได้มากกว่าสีโทนอ่อน) สึน้ำเงินจึงเป็นสีที่นอกจากจะช่วยให้ผู้เห็นรู้สึกสงบ ผ่อนคลายลงแล้ว ยังช่วยดึงสติและสมาธิได้อีกด้วย

          ที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการใช้สีน้ำเงินกับเทคนิดการเรียนที่ชื่อว่า「青ペン記憶法」หรือถ้าแปลตรงตัวเลยก็คือ “เทคนิคช่วยจำด้วยปากกาน้ำงิน” โดยวันนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอวิธีการใช้ปากกาน้ำเงิน 3 วิธี

          1. เขียนทุกอย่างด้วยปากกาสีน้ำเงิน

          เป็นวิธีที่ฮิตที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยวิธีทำก็ง่าย ๆ เลยคือก่อนอื่นให้น้อง ๆ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในหัวก่อนว่าอยากเขียนเกี่ยวกับอะไร เช่น จะเขียนสรุปหัวข้อที่ตัวเองไม่แม่นอันนี้ ๆ หรืออยากเขียนทวนเรื่องนี้ ๆ 3 รอบให้จำได้ จากนั้นก็ใช้ปากกาสีน้ำเงินเขียนสิ่งที่เราอยากเขียนลงไปในสมุดเลย ทั้งนี้วิธีต้นตำรับแนะนำว่าควรใช้ปากกาสีน้ำเงินกับสมุดเป็นเล่ม ๆ เลย ไม่ควรใช้ไอแพด เนื่องจากจุดประสงค์ที่ใช้ปากกาก็เพราะว่าปากกานั้นลบไม่ได้ เมื่อเราเขียนผิดก็ขีดฆ่าไปไม่ต้องลบด้วยลิควิด แล้วเมื่อเราย้อนกลับมาอ่านเราก็จะได้รู้ว่าเราอ่อนตรงไหน เคยเข้าใจผิด หรือพลาดตรงไหนมาก่อนได้อย่างชัดเจน

          2. ปากกาน้ำเงิน+ไฮไลท์

          วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเวลาอ่านหนังสือทบทวนหลาย ๆ รอบ โดยอ่านทวนรอบแรกให้ขีดเส้นใต้หรือจดสิ่งที่สำคัญลงไปด้วยปากกาสีน้ำเงินก่อน จากนั้นเมื่ออ่านครั้งที่ 2 แล้ว ถ้าจำส่วนที่เรามาร์กปากกาสีน้ำเงินไม่ได้ ก็ให้ใช้ไฮไลท์ขีดทับลงไป จากนั้นหากอ่านทวนรอบที่ 3 แล้งยังจำไม่ได้อีก ก็ให้ใช้ไฮไลท์อีกสีหนึ่งขีดทับส่วนนั้นอีกที ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจำได้หมด แล้วเมื่ออ่านย้อนดูอีกรอบจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตรงไหนที่เราลืมมากที่สุด หรืออ่อนที่สุด จากนั้นเมื่อรู้แล้วก็จะสามารถอ่านเน้นหรือทำแบบฝึกหัดทบทวนประเด็นนั้น ๆ ได้

          3. ปากกาน้ำเงิน+แผ่นพลาสติกสีน้ำเงิน

          วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับวิชาที่เน้นท่องจำมาก ๆ  ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้เขียนได้เคยแนะนำวิธีนี้ไปแล้วในบทความตีแผ่เคล็ดลับเตรียมสอบ จากภาพยนตร์เรื่อง “BIRI GAL” วิธีก็คือให้เราเขียนสิ่งที่ไม่แม่น คำสำคัญหรือคำตอบของคำถามนั้น ๆ เอาไว้ด้วยปากกาสีน้ำเงินก่อน จากนั้นเวลาที่ต้องการจะทบทวนก็ใช้แผ่นพลาสติกสีน้ำเงินปิดเอาไว้ แล้วคำที่เราเขียนไปด้วยปากกาสีเดียวกันก่อนหน้านี้ก็จะมองไม่เห็น

          นอกจากสีน้ำเงินแล้ว สีที่ช่วยในการอ่านหนังสือคือสีเขียว น้อง ๆ คนไหนที่เคยดูการ์ตูน ละครหรือภาพยนตร์ของญี่ปุ่นอาจจะเคยเห็นว่ากระดานดำหน้าห้องที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีสีเขียว ไม่ใช่สีดำ ซึ่งจริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้กระดานดำของญี่ปุ่นก็เป็นสีดำจริง ๆ แต่ต่อมาในปี 1945 สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JIS) ก็ได้เปลี่ยนกระดานดำจากสีดำเป็นสีเขียว ทั้งนี้นอกจากเพราะสีดำเป็นสีที่หากมองหรือจ้องเป็นระยะเวลานาน ๆ จะไม่ดีต่อสายตาแล้ว สีเขียวยังเป็นสีที่ช่วยถนอมสายตาและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเหนื่อยล้า ดังนั้นน้อง ๆ คนไหนที่จดโน้ตในสมุดก็อาจใช้สมุดที่มีกระดาษสีเขียว หรือคนไหนที่จดโน้ตในไอแพดก็อาจใช้พื้นหลังเป็นสีเขียวก็ได้

          สีแบบไหนที่ทำลายสมาธิ?

          ว่าแต่สีแบบไหนล่ะที่น้อง ๆ ไม่ควรใช้เวลาอ่านหนังสือสอบ จากงานวิจัยของAndrew Elliot ที่ได้ทำการทดลองด้วยการให้ผู้ร่วมการทดลองทำแบบทดสอบซึ่งมีกระดาษเป็นสีขาว แดง และเขียว แล้วพบว่าผู้เข้าร่วมที่ทำแบบทดสอบกระดาษสีแดงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20%

          สีแดงเป็นสีวรรณะร้อนและเป็นสีที่ทำให้หัวใจเต้นถี่กว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดความเครียด จึงเป็นสีที่ไม่เหมาะกับการใช้อ่านหนังสือ เรียกได้ว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถอะ


          และนี่คือการใช้หลักจิตวิทยาของสีในการอ่านหนังสือสอบนั่นเอง หวังว่าน้อง ๆ จะเอาเทคนิคนี้ไปใช้สอบแล้วได้คะแนนเริ่ด ๆ กันทุกคนนะคะ ทำการเรียนให้มีสีสันแล้วสนุกไปกับมันนะคะ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

Source:

Elliot, A. J. and other.  (2007, March). “Color and psychological functioning: The effect of red on performance attainment,” Journal of Experimental Psychology General. 136(1):154-68

http://color-psychology.jp/k_study.html

https://licenstudy.com/license-study-method-blue-pen

อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย, สัญชัย สันติเวช, และ นิธิวดี ทองป้อง.  (2560, มกราคม-มีนาคม).  “จิตวิทยาสีกับห้องเรียน BBL Psychology of Color : BBL Classrooms,” วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40(01). : 1-14

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *