ทำไมถึงไม่ควรโต้รุ่งอ่านหนังสือ?!

  สวัสดีจ้า มาพบกันกับบล็อกจาก Clearnote กันอีกแล้ว~

  น้องๆ หลายคนยังอยู่ในช่วงสอบปลายภาคหรือเพิ่งจะสอบปลายภาคเสร็จกันไป ช่วงนี้หลายๆ คนก็คงต้องอ่านหนังสือกันหนักมากๆ แบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีเวลาทำอะไรอย่างอื่นเท่าไร หรือบางคนก็อาจจะถึงขนาดโต้รุ่งกันเลยทีเดียว! (แอบเห็นในทวิตมานะ!)

  แต่จริงๆ แล้วการโต้รุ่งอ่านหนังสือมันจะช่วยให้เราสอบได้คะแนนดีขึ้นจริงๆ หรอ?

  ในระยะสั้นๆ อาจจะมีผลเสียแค่เหนื่อยๆ เท่านั้น แต่ในระยะยาวล่ะ? ร่างกายของเราจะ ok รึเปล่านะ?

  วันนี้ Clearnote ของเราจะพาไปดูกันเลย!


การนอนหลับสำคัญกับร่างกายอย่างไร?

  การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ การนอนหลับช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้า เป็นเวลาที่ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ และยังช่วยให้ฮอร์โมนต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานของร่างกาย ทำงานได้อย่างเป็นปกติอีกด้วย เพื่อจะได้ตื่นมาใช้ชีวิตตอนกลางวันได้อย่างแข็งแรง

แล้วการนอนหลับส่งผลต่อสมองยังไงบ้าง?

  นอกจากนี้เวลาที่เรานอนหลับ ยังเป็นเวลาที่สมองกำจัดของเสียต่างๆ เช่น โปรตีนที่ไม่ต้องการออกไปจากสมอง (โปรตีนส่วนหนึ่งที่ถูกกำจัดออกไป ก็เป็นโปรตีนที่ทำให้สมองเสื่อม และเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ด้วย) เป็นช่วงเวลาที่สมองจัดการลบข้อมูลที่ไม่ต้องการ ข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ และยังเป็นช่วงเวลาที่สมองเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นเป็นความทรงจำระยะยาวอีกด้วย

  นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์หรือระบบลิมบิก(Limbic system) จะมีการทำงานมากขึ้น ซึ่งการทำงานนี้จะช่วยให้เราตื่นมามีอารมณ์ปกติ ไม่หงุดหงิด

  อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สมองจัดการ จัดระเบียบตัวเอง ให้พร้อมใช้การได้เต็มที่อีกครั้งในตอนที่เราตื่นนั่นเอง

การโต้รุ่งอ่านหนังสือส่งผลยังไง

  ถ้าเราโต้รุ่งอ่านหนังสือ ร่างกายและสมองของเราไม่สามารถทำงานการกระบวนการที่อธิบายไปได้บนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อร่างกายและสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลกระทบในระยะสั้น

  เริ่มจากความรู้สึกเหนื่อย ปวดเมื่อยและรู้สึกล้า เพราะกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่เหมือนกับตอนที่เราได้หลับเต็มตื่น

  กับสมองยิ่งแล้วใหญ่เลย การโต้รุ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองมากๆ แถมสมองเป็นส่วนที่ควบคุมความคิด ความจำและอารมณ์ของเรา ถ้าเราไม่ได้นอนสมองก็จะไม่สามารถกำจัดโปรตีนส่วนเกินได้อย่างที่บอกไปข้างต้น ไม่สามารถจัดการ จัดระเบียบข้อมูลในสมองได้อย่างเต็มที่ สมองส่วนลิมบิกที่จัดการอารมณ์เองก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เรารู้สึกเครียดง่าย ไม่มีสมาธิจดจ่อ ไม่สามารถใช้ความคิด ความจำได้อย่างเต็มที่

  สรุปก็คือ พอเราอดนอนไปสอบ (อย่างเช่นที่ผู้เขียนเองก็เคยทำ) เราก็จะไปสอบแบบสะโหล สะเหล อ่อนเพลีย รู้สึกเครียด รู้สึกกังวลกับการสอบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ตอนทำข้อสอบก็ยังไม่สามารถ คิด วิเคราะห์แก้โจทย์ได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บอกอย่างชัดเจนว่า การอดนอนอาจส่งผลให้เราจดจำข้อมูลผิดๆ ได้ น้องๆ ลองคิดดูนะ อุตสาห์อ่านมาทั้งคืน แต่สุดท้ายเพราะอดนอน เลยทำให้เราจำข้อมูลผิดๆ ไปตอบข้อสอบ เสียดายแย่เลย

ผลกระทบในระยะยาว

  ที่สำคัญไปกว่านั้น ในระยะยาว ถ้าเราโต้รุ่งบ่อยๆ ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูงจากความเครียด หัวใจวายเฉียบพลันเพราะสมองส่วนที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ โรคอ้วนเพราะฮอร์โมนคอร์ติซอล(ฮอร์โมนที่ทำให้เครียด) ฮอร์โมนเกรลิน(ฮอร์โมนที่ทำให้หิว) หลั่งออกมามากขึ้น ทำให้อยากกินมากขึ้น เป็นต้น

  นอกจากนี้ ในด้านของจิตใจ การโต้รุ่งในระยะยาว ยังอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลอีกด้วย เพราะเมื่อเรานอนไม่พอ ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยให้เรามีอารมณ์ดี ปกติสุข จะหลั่งออกมาน้อย


  สรุปแล้วการโต้รุ่งอดนอนอ่านหนังสือ น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่สามารถตื่นไปทำข้อสอบได้อย่างเต็มที่แล้ว ในระยะยาวยังอาจทำให้เราเจ็บป่วยได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น ถึงจะยาก แต่ Clearnote ก็อยากให้น้องๆ ทุกคนนอนให้เต็มอิ่ม ก่อนตื่นไปทำข้อสอบอย่างเต็มที่มากกว่านะ!


Reference

Cox, D. (2014). What happens to your body if you study all night?. Retrieved from https://www.theguardian.com/education/mortar board/ 2012/oct/09/students-beware-sleep-deprivation

Granoff, J.D. (2011). All-Nighters Found to Cause Euphoria … and Brain Damage. Retrieved from https://www.thecrimson.com/flyby/article/ 2011/3/25/sleep-yoo-brain-study/

Lo, C. J, Chong, L. H. P, Ganesan, S, Leong, L. F. R. & Chee, W. L. M. (2016). Sleep deprivation increases formation of false memory. Journal of Sleep Research, 25(6), 673-682 . Retrieved from https://pdfs.semanticscholar .org/7687/e323c6e2639197083859843ae17684b3e424.pdf?_ga=2.162974652.184623207.1631420984-928257499.1631420984

Nunez, K. & Lamoreux, K. (2020). What Is the Purpose of Sleep?. Retrieved from https://www.healthline.com/health/why-do-we-sleep

Rosenberg, C. (2019). 10 Effects of Long-Term Sleep Deprivation. Retrieved from https://www.sleephealthsolutionsohio.com/blog/10-effects-of-long-term-sleep-deprivation/

Suni, E. (2020). Why Are All-Nighters Harmful?. Retrieved from https://www.sleepfoundation.org/sleep-hygiene/why-are-all-nighters-harmful

จุฑามาศ แหนจอน. (2015). สมองกับอารมณ์: มหัศจรรย์ความเชื่อมโยง. ราชพฤกษ์, 13,(3), 9-18. สืบค้นจาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/Ratchaphruek journal/article/download/91887/72046/

หลับเถอะนะ จะได้มีสมองดี ๆ. (ม.ป.ป.). สืบค้นจาก http://wongkarnpat. com/viewya.php?id=688

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *