มาลองเช็คกันเถอะว่า เราเครียดอยู่รึเปล่านะ?

  สวัสดีจ้าน้องๆ ทุกคน

  สำหรับน้องๆ ม.6 ที่กำลังจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทุกคนคงกำลังพยายามกันอย่างสุดความสามารถ ทุ่มทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้

  ในเวลาแบบนี้ทุกคนคงมีความเครียดไม่มากก็น้อย ความเครียดนิดหน่อยอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เราทำตามเป้าหมายได้ แต่ถ้าเครียดมากไปคงไม่ดีแน่…

  วันนี้บล็อก Clearnote ของเราเลยจะมาชวนน้องๆ เช็คตัวเองกันเถอะ ว่าเราเริ่มจะเครียดเกินไปรึเปล่านะ


ความเครียด คือ?

ภาพโดย Jan Vašek จาก Pixabay

  ความเครียดเป็นการตอบสนองของร่างกายและจิตใจเราต่อสถานการณ์หรือเรื่องต่างๆ ที่เราเจอในชีวิต

  ความเครียดที่ไม่เยอะเกินไปช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เราเจอได้ เพราะความเครียดทำให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยให้เราหลีกหนีจากอันตรายที่อาจเจอได้อย่างทันท่วงที แต่ความเครียดที่มากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน เพราะอาจทำให้เราป่วย ไม่สบาย และไม่มีความสุขได้


อาการที่เกิดจากความเครียด

1.อาการทางร่างกาย

ภาพโดย Robin Higgins จาก Pixabay

  เมื่อเราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายจะทำงานต่างจากสถานการณ์ปกติ เพื่อช่วยให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อันตรายหรือตึงเครียด แต่ถ้าเราเครียดเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดอาการที่ไม่พึ่งประสงค์ต่อร่างกายได้

  อาการทางร่างกายที่อาจเกิดจากความเครียด เช่น รู้สึกไม่มีแรง ปวดหัว คลื่นไส้ อยากอาเจียน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ วิตกกังวล ตัวสั่น เหงื่อออกตามมือและเท้า ปากแห้ง กลืนอะไรไม่ค่อยลง ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง(อาจทำให้ป่วยบ่อย) ความต้องการทางเพศลดลง ผมร่วง (ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกอย่าง อาจเกิดอาการแค่บางอย่างก็ได้เช่นกัน)

2.อาการทางอารมณ์

ภาพโดย ErikaWittlieb จาก Pixabay

  อาการทางด้านอารมณ์ เช่น รู้สึกฉุนเฉียว โกรธง่าย กังวล เหงา เศร้าง่าย อารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ รู้สึกอารมณ์เอ่อล้น ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ และไม่สามารถทำให้อามณ์เหล่านี้ผ่อนคลายลง สงบจิตใจลงไม่ได้ง่ายๆ รู้สึกดิ่ง รู้สึกตัวเองไม่มีค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ดีไม่พอ ไม่อยากพบเจอผู้คน

3.อาการทางด้านความคิด

ภาพโดย www_slon_pics จาก Pixabay

  อาการทางด้านความคิด เช่น มีปัญหาเรื่องความจำ จำอะไรไม่ค่อยได้ ลืมง่าย ลืมบ่อย ไม่มีสมาธิ โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ ไม่มีสมาธิเรียน ทำการบ้าน รู้สึกตัดสินใจได้ไม่ดีเท่ากับช่วงปกติ มองโลกในแง่ร้าย มองเห็นแต่เฉพาะด้านไม่ดี

4.อาการทางพฤติกรรม

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay

  พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป อาจกินมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข หรือกัดเล็บ เป็นต้น


  ในขณะที่น้องๆ กำลังพยายามเพื่อมุ่งไปยังเส้นทางข้างหน้า Clearnote ก็อยากให้น้องๆ ใส่ใจสุขภาพตัวเองด้วย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจเลย เพราะเรายังต้องเดินไปตามเส้นทางข้างหน้าอย่างมีความสุขเนอะ^^

  หากน้องๆ รู้สึกเครียด กังวลใจ เศร้า จนกระทั่งกระทบกับชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น

  Clearnote อยากให้น้องๆ อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนที่น้องๆ ไว้ใจ หรือโทรไปที่สายด่วน 1323 (สายด่วนสุขภาพจิต สามารถโทรได้ฟรี 24 ชม.) ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกแย่หรือรู้สึกผิดแต่อย่างใด (เพราะใครๆ ก็สามารถเครียดหรือเศร้าได้ เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและจิตใจ^^)


แบบประเมินความเครียด: คลิกที่นี่

เบอร์ที่โทรไปได้เมื่อเครียดหรือเศร้า

1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

เบอร์: 1323 (24 ชม.)

คุยผ่าน Inbox ที่เพจ: https://www.facebook.com/helpline1323/ (17:00 – 22:00 น.)

The Samaritans of Thailand สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

เบอร์: 02-113-6789 (เวลา 12:00 – 22:00 น.)

เพจ Facebook: https://www.facebook.com/Samaritans.Thailand


Reference

gidanan ganghair. (2562). กำลังเครียดอยู่รึเปล่า. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/Content/47828-%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2.html

Ingonn. (2564). เครียดแล้วต้องโทรหาใคร? รวมสายด่วนเช็กใจ สำหรับคนอยากระบายแทนพิมพ์แชท. https://news.trueid.net/detail/25RO0OoDKVjp

Mark, H. (2021). Stress Symptoms. Retrieved from https://www.webmd.com/balance/stress-management/stress-symptoms-effects_of-stress-on-the-body

Stress. (2021). Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11874-stress

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *